•  
  •  
  •  
 
   
   
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของครอบครัว "ดิษยะศริน"
   
 
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของครอบครัว "ดิษยะศริน" ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็น "จุดเปลี่ยนแห่งการเริ่มต้น" สำหรับการดำเนินกิจการเกี่ยวกับสถานศึกษา
ของครอบครัวก็คงจะกล่าวได้ เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ครอบครัวดิษยะศริน โดยเฉพาะท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน ได้เริ่มต้นกิจการสถานศึกษาเอกชน จนกระทั่ง เจริญก้าวหน้ามาจนทุกวันนี้ เมื่อคุณรสสุคนธ์ (น้องสาวท่านอาจารย์ประดิษฐ์  ดิษยะศริน) และสามี คือ นายฟู  สัตย์สงวน ได้เปิดโรงเรียนขึ้นมาใหม่ในบริเวณ ถนนผดุงภักดี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2496 โดยตั้งชื่อโรงเรียนว่า "โรงเรียนสัตย์สงวนวิทยา"
 
มูลเหตุที่ทำให้ท่านทั้งสองคิดที่จะจัดตั้งโรงเรียนนี้ขึ้นก็ด้วยเหตุผลว่า โรงเรียนในอำเภอหาดใหญ่ในสมัยนั้น มีไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียนที่ประสงค์จะ
เรียนต่อเป็นจำนวนมาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านเจ้าของโรงเรียน คือ นายฟู  สัตย์สงวน มีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องของการศึกษาอยู่เป็นทุนเดิม รวมถึงมีความ ศรัทธาที่จะช่วยสนับสนุน นโยบายการศึกษาของชาติ จึงได้ดัดแปลงอาคารชั้นเดียว ซึ่งตั้งอยู่ เลขที่ 10/1 ถนนผดุงภักดี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ขึ้นเป็น โรงเรียน และใช้นามสกุล "สัตย์สงวน" ตั้งเป็นชื่อโรงเรียนว่า "โรงเรียนสัตย์สงวนวิทยา" โดยมีขุนวิเทศธนวิจารณ์ เป็นผู้จัดการและครูใหญ่ในสมัยนั้น
 
ต่อมาในปี พ.ศ.2498 ทั้งสองท่านมีความประสงค์ที่จะย้ายโรงเรียนแห่งนี้ไปตั้งขึ้นใหม่ที่กรุงเทพฯ (ปัจจุบันคือโรงเรียนสัตย์สงวนวิทยา ในเขตพื้นที่
สามเสน) จึงได้โอนขายกิจการให้แก่พี่ชาย คือท่านอาจารย์ประดิษฐ์  ดิษยะศริน และคุณยายลำดวน  ดิษยะศริน ในปีเดียวกันนั้น
 
หลังจากที่อาจารย์ประดิษฐ์  ดิษยะศริน ได้ซื้อโอนกิจการต่อมาจากน้องสาว ก็ได้เปลี่ยนชื่อ "โรงเรียนสัตย์สงวนวิทยา" เป็น
"โรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์" อักษรย่อ "อว" ภายใต้การรับรองวิทยฐานะของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเปิดสอนนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 ซึ่งในยุคแรกที่เปิดการเรียนการสอนมีนักเรียนเพียง 200 คนเศษเท่านั้น สำหรับการบริหารในขณะนั้น  มีท่านอาจารย์ประดิษฐ์  ดิษยะศริน ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าของ และผู้จัดการ และได้เริ่มดำเนินกิจการนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
 
ในช่วงเวลาแห่งการบุกเบิกนี้เอง ที่ท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยามาใหม่ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วม
ในการบริหารโรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์ ตั้งแต่ ปีพ.ศ.2504 เป็นต้นมา จนกระทั่งโรงเรียนได้ขยายระดับชั้นการศึกษาของนักเรียน จากชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.ศ.1) จนกระทั่งถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น(ม.ศ.3) สายสามัญ ในที่สุด
 
ภายใต้การบริหารงานและดูแลกิจการสถานศึกษาอย่างใกล้ชิด ของท่านอาจารย์ประดิษฐ์ และคุณยายลำดวน  ดิษยะศริน ทำให้โรงเรียนหาดใหญ่
อำนวยวิทย์มีความเจริญก้าวหน้าขึ้นโดยลำดับ ซึ่งสมัยนั้นเมืองหาดใหญ่มีโรงเรียนเกิดขึ้นเพียงไม่กี่โรง และที่เป็นโรงเรียนเอกชนก็เห็นจะมีแต่โรงเรียนดรุณศึกษา เท่านั้น ที่เปิดสอนควบคู่กันมา
 
หลังจากที่ท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน ได้เข้ามาช่วยเหลือกิจการของครอบครัวอย่างเต็มที่แล้ว   ท่านก็ไม่ได้ทำให้ครอบครัวผิดหวังเลยแม้แต่น้อย
จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2518 ท่านจึงมีแนวความคิดที่จะเปิดสถานศึกษาของตัวเอง และท่านได้เริ่มทำจนเป็นผลสำเร็จ โดยได้เปิดโรงเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ในสายอาชีวะขึ้นชื่อว่า "โรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์พณิชยการ" โดยการแนะนำของท่านพิทยา ไทยวุฒิพงศ์ และท่านก็ได้ใช้อาคารเรียนเดิมเป็นสถานที่พัก อาศัยมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง
 
ในปี พ.ศ.2518 ซึ่งเป็นปีเดียวกันนี้เอง โรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของคุณพ่อและคุณแม่ของ
ท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน ก็ได้รับโล่เกียรติคุณจากกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ว่าเป็นโรงเรียนที่นักเรียนมีความประพฤติดี และบำเพ็ญประโยชน์ จากสังคม ต่อมาระหว่าง พ.ศ.2519-2520 โรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์ก็ได้รับโล่เกียรติคุณจากกระทรวงศึกษาธิการในรางวัลเดียวกันนี้อีก นับได้ว่าเป็นโรงเรียนที่ ได้รับโล่เกียรติคุณ ต่อเนื่องยาวนานถึง 3 ปีซ้อน
 
สำหรับในส่วนของโรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์พณิชยการ ซึ่งท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน เป็นผู้บริหารและดูแลอยู่นั้น ในปีแรกมีนักเรียนเพียง
32 คน แต่เมื่อนักเรียนรุ่นแรกสำเร็จการศึกษาออกไป ปรากฏว่าเป็นที่ต้องการของผู้ปกครองเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากว่านักเรียนที่สำเร็จออกไปล้วนแต่มีคุณภาพ บริษัท ห้างร้านมีการจองตัว นักเรียนตั้งแต่ก่อนจบการศึกษาเพื่อรับเข้าทำงาน
 
เมื่อดำเนินกิจการไปพอสมควร ประมาณ ปี พ.ศ.2523 ท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน ก็ได้ย้ายโรงเรียนไปตั้งในที่ใหม่บริเวณหาดใหญ่ใน บนเนื้อที่กว่า
4 ไร่ซึ่งคุณปู่ไพรัช และคุณย่าพิศ  สัตยารักษ์ เป็นผู้มอบที่ดินให้ ณ เลขที่ 9/2 ซอย 26 ถนนเพชรเกษม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
 
ท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน ได้กล่าวถึงบรรยากาศของการเปิดการเรียนการสอนในช่วงนั้นไว้ว่า
   
 
"เด็กของเราที่สำเร็จออกไปนั้น ได้รับความนิยมจากผู้ปกครองเป็นอย่างสูง เพราะเด็กของเรามีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ จำนวนนักเรียนที่สมัครเข้าเรียน จึงได้เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณทุกปี"
   
 
เมื่อผลของการดำเนินกิจการสถานศึกษาก้าวหน้าไปได้ด้วยดีเช่นนี้ ผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษา ธิการจึงได้แนะนำให้ท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน
เปิดการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ในปี พ.ศ.2525 ซึ่งท่านอาจารย์ก็ได้แบ่งรับแบ่งสู้ และขอยืดระยะเวลาของโครงการนี้ออกไปอีกประมาณ 2 ปี เนื่องจากอยู่ ในช่วงที่กำลังจะมีการเปลี่ยนหลักสูตรใหม่
 
จนในที่สุด ท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน ก็ได้ขยายการศึกษาไปจนถึงระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงได้จนเป็นผลสำเร็จ ในปี พ.ศ.2527 ก็คือ
"โรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์บริหารธุรกิจ" ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินผืนเดียวกันกับโรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์พณิชยการ
 
มูลเหตุที่ท่านคิดจะขยายโรงเรียนในตอนนั้นก็เนื่องมาจากว่า มีเสียงเรียกร้องจากผู้ปกครอง นักเรียน และจากอดีตผู้อำนวยการกองโรงเรียนอาชีวศึกษา
ในสมัยนั้น คือ ท่านพิทยา  ไทยวุฒิพงศ์ ซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่ท่านอาจารย์ประณีตให้ความเคารพนับถือ โดยท่านพิทยาได้เปรยกับท่านอาจารย์ประณีตว่า ต้องการที่จะ ให้มีสถานศึกษา เพื่อรองรับนักเรียนในชุมชนที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี และในที่สุดท่านอาจารย์ประณีตก็ได้บุกเบิกพัฒนาโรงเรียนขึ้นจนเป็นผลสำเร็จ
 
หลังจากที่เปิดโรงเรียนมาได้ระยะหนึ่ง ท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน ก็เริ่มเห็นปัญหาว่า โรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์พณิชยการนี้ มีทีท่าว่าจะ
คับแคบไป เนื่องจากมีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี จึงได้ดำเนินการขยายโรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์บริหารธุรกิจออกมาตั้งโรงเรียนใหม่ ที่ 125/501 ถนนพลพิชัย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา บนพื้นที่ 40 ไร่เศษ ซึ่งอยู่ใกล้กับที่ทำการประปาส่วนภูมิภาคในปัจจุบัน
 
แต่กว่าที่ทุกอย่างจะดำเนินมาจนถึงจุดนี้ได้นั้น ทุกภาพทุกเหตุการณ์ยังคงตราตรึงและไม่เคยเลือนหายไปจากความทรงจำ ของท่าน
อาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน ซึ่งท่านได้กล่าวถึงช่วงสมัยที่ได้มีการบุกเบิกไว้ ดังนี้
   
 
"กว่าจะมาถึงจุดนี้ เราเหน็ดเหนื่อยกันมาก ได้ต่อสู้กันมามากมาย โดยเฉพาะช่วงสมัยที่อยู่โรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์เดิม แทบไม่น่าเชื่อว่าเราฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ มาได้ ซึ่งผู้ที่ได้ช่วยเหลือให้ผ่านพ้นวิกฤติการณ์มาได้โดยตลอดนั้น ก็ด้วยญาติผู้ใหญ่ คือคุณอา ซึ่งเป็นน้องชายของคุณพ่อ ท่านพล.อ.อ.ประหยัด  ดิษยะศริน และคุณหญิงวิจิตรา  ดิษยะศริน เราอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ก็เพราะท่าน ท่านทั้งสองเปรียบเสมือนคุณพ่อและคุณแม่ และท่านทั้งสองนั้นก็รักพี่ชายและพี่สะใภ้มาก บุญคุณของคุณอาทั้งสองท่านนี้ รวมถึงคุณปู่ไพรัช และคุณย่าพิศ  สัตยารักษ์ เป็นสิ่งที่จดจำไม่เคยลืม"
   
 
หลังจากที่ท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน เปิดโรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์บริหารธุรกิจมาได้ระยะหนึ่ง ในปี พ.ศ.2528 ท่านอาจารย์ประดิษฐ์ 
ดิษยะศริน ก็เริ่มเจ็บป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับสมอง ซึ่งตลอดระยะเวลาที่คุณพ่อของท่านเจ็บป่วยอยู่นั้น ญาติ  พี่น้อง และลูกหลาน โดยเฉพาะท่านอาจารย์ประณีต ได้คอยปรนนิบัติดูแลท่าน ที่โรงพยาบาลหาดใหญ่อย่างใกล้ชิด และจะแวะไปเยี่ยมเยียนคุณพ่อของท่านทุกวันมิได้ขาด แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีที่ท่านมีต่อบุพการี และหลานที่เยี่ยมคุณตาทุกวัน ก็คือ "หลานโอบ" เพราะเรียนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
 
ในช่วงเวลาที่เสมือนต้องฟันฝ่าวิกฤติการไปให้ได้นั้น ท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน ก็ยังคงมีความมุ่งมั่นและทำงานหนักมาอย่างต่อเนื่อง ยังผลให้สิ่งที่
ท่านได้สร้างทำเป็นระยะเวลาอันยาวนานนั้นได้รับการพิจารณาจากองค์กรในส่วนกลาง
 
เมื่อท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน ได้รับเกียรติบัตรจากคุรุสภา ในปี พ.ศ.2529 ซึ่งให้ไว้เพื่อแสดงว่า
   
 
"ท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน เป็นผู้ที่อยู่ในมาตรฐานแห่งคุณธรรมและความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพครู"
   
 
ไม่เพียงแต่เป็นต้นแบบในด้านของคุณธรรมและจริยธรรมเท่านั้น ในกิจการงานส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวกับด้านศิลปวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะดนตรีไทย
ท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน ก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยในปี พ.ศ.2530 ท่านได้ดำริที่จะจัดงานมหาดุริยางค์ไทยขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุครบ 60 พรรษา โดยได้เชิญบุคลากรทางดนตรีไทยจากสถาบันการศึกษา 19 สถาบัน เข้าร่วมการบรรเลงในลักษณะ "มหาดุริยางค์" ซึ่งมีจำนวนผู้ที่ร่วมบรรเลงกว่า 200 คน นับเป็นการจัดงานบรรเลงดนตรีไทยแบบวงใหญ่เป็นแห่งแรกในส่วนภูมิภาค