•  
  •  
  •  
       
       
 
กว่าจะถึงวันนี้ เกิดมาชีวิตต้องสู้
 
       
 
จำได้ว่าตั้งแต่ตัวเล็กตัวน้อยอายุเพียง 7 ขวบ  ไปโรงเรียนเทศบาล 2 เรียนชั้นป.เตรียมในสมัยนั้น  ก็มีลูกอมไปขายที่โรงเรียนในตอนเช้ากับ
 
 
เพื่อนรุ่นพี่ ชื่อ ตุ๊กตา ลูกปลัดทิน เขาขายท๊อฟฟี่   ตอนพักเที่ยงก็ขายอีก  ขายของหมดก็ได้เล่นกับเพื่อน ๆ และรุ่นพี่ สมัยก่อนตอนเด็ก ๆ ก็เล่นตี่ เล่นกระโดด ยาง เล่นหมากเก็บ
 
 
พอตกเย็นโรงเรียนเลิก   ก็ขายของหน้าบ้านตามฤดูกาล  เช่น  คั่วลูกกอขาย  ย่างข้าวโพด  บางวันแม่ก็ต้มข้าวโพดให้ไปขายแถวหาดใหญ่ใน
 
 
หลังอำเภอ และหลังบ้านพักนายอำเภอวันขายได้หลายสิบบาท  แล้วแม่ก็แบ่งให้ไว้ทานขนมวันละ 2 – 3 บาท ก็ดีใจ
 
 
พอขึ้นป.3 ก็ย้ายไปอยู่โรงเรียนวัดโคกสมานคุณ  เพราะพ่อเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนสมานคุณวิทยาทาน  ซึ่งย้ายครู – นักเรียนจากโรงเรียน
 
 
หาดใหญ่วิทยา มาถวายให้วัดโคกสมานคุณ  คือ  โรงเรียนสมานคุณวิทยาทานในปัจจุบัน  วันอาทิตย์อายุประมาณ 10 ขวบไปขายข้าวสารในตลาดนัด วันอาทิตย์  เที่ยงแม่ก็ไปพลัดให้ทานข้าว  วันหยุดแม่ก็พาลูกหยีกวนใส่หม้อให้หิ้วเดินไปส่งที่คุณป้าธัญญะ  ซึ่งเปิดร้านขายกาแฟที่โรงแรมคุณอารสสุคนธ์
 
 
ซึ่งดัดแปลงจากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาเป็นโรงแรม
 
 
ปกติพ่อ – แม่เป็นคนที่มีฐานะไม่ลำบาก ฐานะปานกลาง แต่ทั้งสองท่านเป็นคนขยันทำมาหากิน  วันหยุดบางวันก็ไปเล่นน้ำคลองที่หาดใหญ่
 
 
กับลูกของคุณลุงขุนจำนงค์– คุณป้าฮั้ว กิระวานิช หาดทรายกว้างใหญ่  น้ำใสแจ๋วเห็นตัวปลา  พี่ ๆ ผู้ชายเขาแหย่กันว่าระวังนะ  ประเดี๋ยวปลาปักเป้าจะกิน เอานะ ทุกคนก็เล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน         
 
   
ในปี  พ.ศ.2484  สงครามโลกครั้งที่  2  อยู่ได้เพียง  4  ขวบ  ญี่ปุ่นวางระเบิดที่สงขลา  ยายเล่าให้ฟังว่า  ขณะนั้นยายพาไปรักษาที่
 
 
โรงพยาบาลสงขลาก็อพยพหนีภัยลงทางเรือ  ลำบากมาก  ได้กินข้าวกับเกลือ  จะหนีไปขึ้นที่ไหนก็จำไม่ได้  หรือยายไม่ได้บอกก็ไม่ทราบ
 
   
อีกครั้งชีวิตที่ต้องหนีภัยน่ากลัวมาก  ในปี  พ.ศ. 2488  อายุเพียง 7 ขวบ  สงครามโลกครั้งที่  2  ญี่ปุ่นเต็มเมืองหาดใหญ่ – สงขลา และ
 
 
กำลังจะเลิกสงคราม เขาจะมีสัญญาณเตือนภัยเป็นหวอ  ให้หลบภัยเดี๋ยวก็หวอ  เดี๋ยวก็หวอ  วิ่งหนีกันชุลมุนลงหลุมหลบภัยที่บ้าน ดร.ปกิต  กิระวานิช
 
 
เพราะเป็นหลุมหลบภัยถาวรที่ก่ออิฐ – ลาดปูนเรียบร้อย  ที่บ้านมีแต่หลุมดิน
 
   
บางครั้งครอบครัว  ดร.ปกิต  กิระวานิช  คุณพ่อเป็นปลัดอำเภอมีพวกมาก  ก็หนีอพยพไปอาศัยพวกอยู่แถวคลองต่ำบ้าง  แถวบางกล่ำบ้าง
 
 
เราก็ได้อาศัยครอบครัวลุง – ป้าไป จำได้ว่ามีคลองได้เล่นน้ำกันทุกวัน
 
   
เมื่อเรียนสำเร็จวิทยาลัยครูสมเด็จเจ้าพระยาแล้ว  พ่อก็ให้มาเป็นครูใหญ่  ในปี พ.ศ. 2504  ซึ่งพ่อได้ซื้อกิจการโรงเรียนมาได้เพียง 6 ปี  
 
 
(คือซื้อกิจการ พ.ศ. 2498) จึงได้ขยายชั้นมัธยมศึกษาในปี พ.ศ. 2504  นี้เอง
 
   
เกิดมาชีวิตนี้ต้องสู้  โชคร้ายบังเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว  ในปีพ.ศ. 2514  อายุได้เพียง  33 ปี  (จำได้แม่นไม่ลืม)  เกิดเหตุร้ายเหมือนฟ้าผ่า
 
 
พ่อ – ลูก แทบพาโรงเรียนไม่รอด  เกิดวิกฤตเศรษฐกิจด้านการเงิน  ป้าเจียมจิตต์หาดใหญ่ในบอกว่า สงสารณีต  อายุเพียงเท่านี้ต้องมารับศึกหนัก โดยแม่ ได้สร้างขึ้น โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์  คุณป้าเชียงใหม่ก็เข้ามาให้กำลังใจ ดูแลเป็นเพื่อนพ่อ  ปกติแม่เป็นคนขยันทำมาหากิน  เป็นคนใจดี  มีเมตตา  หลาน ๆ
 
 
จะรักทุกคน  ชอบทำบุญ และที่ได้มีโรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์เพราะแม่ได้ขอร้องคุณย่าให้คุณอารสสุคนธ์  สัตย์สงวน  ขายโรงเรียนให้  ในปีพ.ศ.2498 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียน หาดใหญ่อำนวยวิทย์  โดยรับหนี้แทนจากธนาคารมณฑล (ธนาคารกรุงไทยปัจจุบัน)  โดยการจ่ายเงินสดเพียง  40,000  บาท รับหนี้แทนประมาณ  300,000 บาทเศษ (สามแสนบาทเศษ) ชีวิตต้องประคับประคอง ต้องอดทน อดกลั้นมาโดยตลอดชีวิต  ด้วยอุปสรรคนานับประการ รอบด้าน
 
   
ท่านที่ได้กู้โรงเรียนให้เป็นท่านแรก คือ พล.อ.อ.ประหยัด ดิษยะศริน และคุณหญิงวิจิตรา ดิษยะศริน เหมือนพระมาโปรด  ต่อมาคือ
 
 
คุณปู่ไพรัช – คุณย่าพิศ  สัตยารักษ์  และ  ดร.ปรัชญาทวี   ตะเวทิกุล   ก็ใช้เวลาอยู่หลายปี  กว่าจะพ้นอุปสรรคไปได้
 
   
ประมาณปี 2516 โชคชะตาเป็นสิ่งอัศจรรย์  ช่วงที่เป็นครูใหญ่อยู่ในโรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์  พ่อหลวงฮกแห่งวัดโคกทราย ได้ดูดวง
 
 
ให้ว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะได้ตั้งตัว  คิดในใจว่าเป็นไปได้ยังไงในเมื่อกินเงินเดือนอยู่เพียงเดือนละ  750  บาทได้ซื้อที่ดิน 1 แปลง 4 ไร่เศษ  300,000 บาทเศษ  ของลุงผ่อง  จันทรคาม  ควนลัง  ได้ตัดห้องขาย  ห้องละ  6,000  บาท  เงินผ่อน  แล้วเอาเงินนี้ไปผ่อนให้กับเจ้าของที่ดินอีกที อาจารย์พยอม
 
 
สารานนท์ ก็ช่วยขายให้ด้วย เมื่อขายเกือบหมด ก็ไปจับที่ดินแปลงใหม่ที่คลองหวะ  แปลงนี้ขายหมดทันทีในไม่ช้า
 
   
ในปีพ.ศ.2517  ได้เจอ  ผอ.วิทยา  ไทยวุฒิพงค์  (ผอ. กองโรงเรียนเอกชนในสมัยนั้น)  แนะให้เปิดโรงเรียนอาชีวะ ท่านบอกว่าโรงเรียน
 
 
อาชีวะตั้งในโรงรียนสามัญได้  ก็อาศัยโรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์  ขอเป็นภาคบ่ายในปีพ.ศ.2518 ชื่อว่าโรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์พณิชยการ ปีแรก
 
 
มีนักเรียน  32  คน  ก็ได้เงินจากกำไรที่ขายที่ดิน  ซื้อพิมพ์ดีดกระเป๋าหิ้ว  32  เครื่อง  พอเด็กจบรุ่นแรกมี  3  ห้อง  ได้ทำงานหมด  เพราะเน้นวิชาการ
 
 
คุณภาพและวินัย   ผู้ปกครองก็พอใจ  นักเรียนก็เพิ่มทุกปี ถึงปีพ.ศ. 2523  พ่อไพรัช – แม่พิศ  สัตยารักษ์ ได้มอบที่ดินให้จำนวน 4 ไร่ 3 งาน ที่หาดใหญ่ใน
 
 
จึงได้สร้างอาคารหลังแรก อาคารประไพ-พิศ  ราคา  1,500,000  บาท  โดยได้เก็บสะสมเงินสดไว้ได้  500,000 บาท โดยแบ่งที่ดินที่สร้างโรงเรียนกู้
 
 
ธนาคารออมสิน  เงินที่ขาดอีก  500,000  บาท  ระหว่างก่อสร้างปีเศษก็ได้รายได้เพิ่มเติม  ก็ไม่เดือดร้อนในเรื่องการเงิน เงินทุกบาททุกสตางค์ในการ ก่อสร้างโรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์พณิชยการ โรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์บริหารธุรกิจ  และวิทยาลัยเมืองหาดใหญ่  ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยหาดใหญ่  ก็ด้วยเงินของตัวเองทั้งสิ้น
 
   
ถึงปี  พ.ศ. 2527  ก็ได้ขยายเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง  ก็โดยการแนะนำของ ท่านพิทยา  ไทยวุฒิพงศ์  เหมือนเช่นเคย
 
 
เมื่อดำเนินกิจการได้ระยะหนึ่ง  นักเรียนก็หนาแน่นรวมกัน  2,200 คนเศษ  จึงได้ย้ายโรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์บริหารธุรกิจไปอยู่ที่ถนนพลพิชัยในปีพ.ศ. 2538 ช่วงที่ได้เป็นบริหารธุรกิจ  บนพื้นที่  5  ไร่เศษ  ก็อยากได้  2 ฝั่งคลอง  ก็ไปขอซื้อฝั่งตรงกันข้าม  พื้นที่ตั้งรวมประมาณ  38 ไร่
 
   
และในปี พ.ศ. 2538 นี้เอง  ได้เปิดวิทยาลัยโดยไม่เคยได้คิด  ได้ฝันมาก่อนในชาตินี้ ก็โดยบังเอิญอีก ในการแข่งขันกีฬาสี  โรงเรียนในเครือ
 
 
หาดใหญ่อำนวยวิทย์   ก็จะมีพิธีเปิดในเรื่องวัฒนธรรมไทย  ได้เชิญ ดร.รุ่ง  แก้วแดง  เป็นประธานเปิดกีฬาสี  เพราะท่านเป็นเลขา  สวช. ในสมัยนั้น
 
 
ในระหว่างเดินทางไปส่งท่านที่สนามบินนั้น ดร. รุ่งได้กล่าวขึ้นว่า  โรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์พณิชยการและบริหารธุรกิจเป็นปึกแผ่นแล้ว ก็น่าจะเปิด อุดมศึกษา เพื่อช่วยนักศึกษา - ผู้ปกครองชาวใต้ จึงได้ปรึกษากับลูก ๆ และเข้าไปในทบวงทันที  ก็ได้ไปพบ  ผอ. ฉันทวิทย์  สุชาตานนท์ผู้อำนวยการ
 
 
อุดมศึกษาเอกชน  ก็ได้รับคำแนะนำอย่างดี  ระหว่างนั้นก็เตรียมหาที่ดิน  ไปขอซื้อของนายยิ่ง  แปลงแรกประมาณ 8  ไร่  รวบรวมที่ได้ประมาณ 30 ไร่
 
 
เจ้าของที่ดินที่มีเมตตา  ใจดี ไม่เซ้าซี้  จู้จี้  เพนสะท่านบอกว่าครูไปทำการศึกษา  คือตาไข่  ศิริบุญ ขณะนี้อายุ 97 ป ได้สร้างอาคารหลังแรก
 
 
ชื่อ  “อาคารสงขลา” ที่ดินเป็นที่นา และเป็นพรุหนองน้ำบ้าง  ก็ต้องบุกไป........กัน  ปรับถมที่ดิน  กลับบ้านแต่ละวันก็โดนขูดขีด มีหญ้าเจ้าชู้เต็มกระโปรง อาจารย์โอม ลูกชาย ได้ทำโครงการอยู่  2  ปี   จึงได้รับอนุญาตในปี  พ.ศ. 2540  ในชื่อ “วิทยาลัยเมืองหาดใหญ่”  ในปีแรกมีนักศึกษา 180  คน ในคณะบริหารธุรกิจ และได้ขยาย คณะต่าง ๆ  ในเวลาต่อมา และมีปริญญาโท  และได้เปลี่ยนสถานะเป็น  “มหาวิทยาลัยหาดใหญ่”  พ.ศ. 2546  มหาวิทยาลัยดำเนินกิจการในพันธกิจ  4  ด้าน คือ  มหาวิทยาลัยได้ส่งเสริม  ทั้งด้านวิชาการ  และกิจกรรมด้านต่าง ๆ โดยส่งเข้าแข่งขันระดับประเทศได้ รางวัลมากมาย  ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีนักศึกษา 5,000 คนเศษ อาจารย์เจ้าหน้าที่ 400 คน มีอาคาร 8 อาคาร บนพื้นที่ 120 ไร่
 
   
สิ่งที่น่าภูมิใจอย่างยิ่งอีกประการ  คือ  มหาวิทยาลัยหาดใหญ่  ได้ให้การยกย่อง  คนกล้า  คนเก่ง  คนดี  คนที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ
 
 
บ้านเมือง โดยมอบเข็ม  "มะหาดเพชร"  "มอบดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์" ดิฉันตั้งปณิธานไว้แน่วแน่ว่า เราจะพัฒนามหาวิทยาลัยของเราให้เติบโต  แข็งแกร่ง ยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเป็นประโยชน์และความภูมิใจของคนชาวใต้ และประเทศชาติ
 
   
กว่าจะถึงวันนี้ที่ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหกรอบ ได้เห็นความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองหาดใหญ่ ได้ทราบถึงความเจริญก้าวหน้าของลูกศิษย์
 
 
รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เกิดมาใต้พระบรมโพธิสมภารของรัชกาลปัจจุบัน และได้มาเป็นชาวใต้ที่ได้พยายามให้แต่ละวันเวลาที่ผ่านไปล้วนมีคุณค่า ขอให้่ คนรุ่นหลังได้ยึดมั่นศาสนา คุณธรรมประจำใจ แม้ว่าสังคมโลก สังคมเมืองจะเปลี่ยนหมุนไปอย่างรวดเร็ว และหวังใจ บ้างว่าชีวิตของดิฉันจะให้ข้อคิดเป็น แบบอย่างว่า มนุษย์เราเมื่อเกิดมาแล้วล้วนมีค่า เพียงแต่เราจะสร้างสรรค์อย่างไรให้เพิ่มคุณค่านั้น ระหว่างการเดินทางของชีวิตมีทั้งสุขและทุกข์ อันเป็น สัจธรรม เราทุกคนจะต้องฟันฝ่าอุปสรรคด้วยสติ อดทน ต่อสู้ไปสู่ประตูแห่งความสำเร็จ และภูมิใจว่าชีวิตหนึ่งนี้ก็สามารถที่จะหยิบยื่นให้อีกหลาย ๆ ชีวิตให้กับสังคม ให้กับบ้านเมือง ให้กับพระพุทธศาสนา โดยไม่ต้องรอเวลา หากแต่จะบังเกิดความสุขในใจของท่านตลอดไปอย่างแน่นอน
 
       
       
 
 
       
 
อาจารย์ประณีต ดิษยะศริน
 
 
10 มีนาคม 2553