•  
  •  
  •  
 
   
   
 
จากรายละเอียดที่หยิบยกมาดังกล่าวข้างต้น   ความสอดคล้องกับที่   คุณเมชิณี  พัวพันรัตนะ    ศิษย์เก่าโรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์ ได้กล่าวถึง
ความเข้มงวดในการสอนของท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน  เอาไว้ว่า    "โรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์   เป็นโรงเรียนที่มีระเบียบค่อนข้างเข้มงวด   กฎค่อนข้างเยอะและ นักเรียนส่วนใหญ่จะกลัวท่านอาจารย์ประณีต  โดยเฉพาะการทำโทษของท่านนั้น  ท่านจะถือไม้เรียว ไม้เรียวของท่านค่อนข้าง ยาวมาก เดินผ่านใคร ถ้าคนไหนทำไม่ถูกท่านจะเรียกและตีก้น   จนมาถึงตอนนี้   ถ้านึกถึงท่านอาจารย์ประณีตจะนึกถึงเมื่อครั้งอดีต  ย้อนนึกไปว่าอะไร ที่เราทำผิด ๆ เราก็จะไม่ ทำอีก  เพราะว่าเราจะมีท่านอาจารย์เป็นต้นแบบของความถูกต้อง  ท่านอาจารย์ไม่ชอบคนเหลวไหล"
 
นอกจากนี้  คุณไพรัช   ทองเจือ  ศิษย์เก่าโรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์อีกท่านหนึ่ง  ได้กล่าวถึงความมีระเบียบของท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน 
เอาไว้ว่า "ในตอนที่ท่านเริ่มเป็นครู  ท่านเป็นคนที่มีระเบียบมาก  ทำให้ผมรู้สึกกลัวท่านในตอนนั้น  แต่เมื่อหลังจากที่ผมเรียนจบไปแล้วและได้มาคุยกับ ท่านอีกครั้ง จากความกลัวในตอนนั้นกลายเป็นความรักในตอนนี้  ผมมีความประทับใจมากและอยากขอบพระคุณท่านที่เป็นแบบอย่างที่ดีงามให้แก่ผม"
 
คำพูดจากผู้ที่เคยเป็นลูกศิษย์ลูกหาของท่านอาจารย์เปี่ยมไปด้วยคุณค่าเสมอ  สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นทั้งภาพสะท้อนและเป็นน้ำหล่อเลี้ยงที่จะทำให้หัวใจ ู
ของผู้ที่เป็นครูได้รู้สึกชุ่มชื่นเบิกบาน   และพร้อมที่จะทำงานต่อไปด้วยความมุ่งมั่น  เสียสละ  จนกว่าสังขารจะไม่เอื้ออำนวย
 
ด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธา  ตามแนวทางที่บุพการีได้วางไว้  ท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน ได้ซึมซับมาตั้งแต่เล็กจนโต จากรุ่นสู่รุ่น นับเป็นอานิสงค์
อันที่ได้หล่อหลอมให้ท่านอาจารย์เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ  ในการที่จะสืบสานสถานศึกษาจนประสบความสำเร็จดังเช่นในปัจจุบัน  ผู้ที่ใกล้ชิดกับท่านอาจารย์ประณีต ได้กล่าวว่า  คุณลักษณะดังกล่าวนี้  เป็นผลมาจากการมีต้นแบบที่ดีในการดำเนินชีวิต  ซึ่งก็คือ  ท่านอาจารย์ประดิษฐ์  และคุณยายลำดวน   ดิษยะศริน  คุณพ่อและ คุณแม่ของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านอาจารย์ประณีต  ก็ได้ทำหน้าที่ของผู้สืบทอดเจตนารมณ์ที่ดีมาโดยตลอด
 
เกี่ยวกับเรื่องนี้ คุณภิญโญ  รัตนมณี    ศิษย์เก่าของโรงเรียนในเครือหาดใหญ่อำนวยวิทย์  ได้กล่าวถึงกลยุทธ์ในการสอนศิษย์ของท่าน
อาจารย์ประดิษฐ์  ดิษยะศรินเอาไว้  โดยเล่าถึงการอบรมสั่งสอนศิษย์โดยเฉพาะการอบรมหน้าเสาธง  ท่านอาจารย์ประดิษฐ์  ดิษยะศริน   ได้ประพันธ์บทร้อยกรองแล้ว ให้ศิษย์ของท่านท่องจำเป็นประจำทุกวัน  หรือนำมาใช้เป็นบทลงโทษแก่นักเรียนที่กระทำความผิด  โดยทำให้ศิษย์จดจำบทประพันธ์ดังกล่าวเพื่อให้เกิดจิตสำนึก ในการกระทำแต่ความดี  ดังบทกลอนที่ท่องจำกันจนขึ้นใจว่า
   
                                              "จงละชั่วทำดีอย่าผลีผลาม                             ทำให้งามวันละนิดจิตแจ่มใส
                                              ใครละชั่วทำดีเป็นศรีไทย                                เมื่อเติบใหญ่จะสุขสมอารมณ์ปอง
                                              ใครละดีทำชั่วต้องมัวหมอง                             ตามทำนองต้องได้ชั่วน่ากลัวหลาย
                                              ใครละดีทำชั่วทั้งหญิงชาย                              จงจำหมายต้องได้ชั่วน่ากลัวเอย"
   
 
หรือแม้แต่กลยุทธในการฝึกความมีระเบียบวินัยในการเข้าแถว  ท่านอาจารย์ประดิษฐ์  ดิษยะศริน   จะเดินตรวจแถวนักเรียนด้วยตนเองเป็นประจำทุกวัน
ท่านจะตรวจความสะอาดร่างกาย   การเข้าแถวก็ต้องให้เป็นระเบียบและเน้นหนักเป็นอย่างยิ่งในเรื่องของการตรงต่อเวลา ถ้าศิษย์คนใดของท่านทำผิดระเบียบวินัยแถว  คนทั้งแถวต้องร่วมกัน รับผิดชอบ  นอกจากจะเป็นการสร้างวินัยให้แก่ตนเองแล้วยังเป็นการสร้างวินัยให้แก่หมู่คณะอีกด้วย
 
หรือในขณะที่ท่านเดินตรวจห้องเรียน   หากมีห้องใดว่างท่านก็จะนำศิษย์ห้องนั้นไปเข้าแถวสวดมนต์ในห้องพระส่วนตัวของท่าน เสร็จแล้วก็จะอบรมสั่งสอน
มีอยู่ตอนหนึ่งท่านอาจารย์ประดิษฐ์  ดิษยะศริน   ได้ถามศิษย์ของท่านว่า   "ใครต้องการคาถาเรียนเก่งบ้าง"   ศิษย์ของท่านต่างก็มีความต้องการ "คาถาเรียนเก่ง" กันทั้งสิ้น ท่านจึงบอกคาถาให้ศิษย์ฟังว่า  คาถานั้นคือ  "สุ  จิ  ปุ  ลิ" หรือ  "หัวใจนักปราชญ์"  นั่นเอง  คือท่านพยายามสอนให้ศิษย์ของท่าน รู้จักฟัง  รู้จักคิด  และเมื่อมีข้อสงสัย ก็ให้รู้จักถาม เมื่อเข้าใจดีแล้วก็ให้รู้จักจดบันทึก กลวิธีการสอนของท่านดังกล่าว  นับว่าเป็นการสร้างให้ศิษย์ของท่านเป็นบุคคล ที่มีความใฝ่หาความรู้อยู่เสมอนั่นเอง
 
คุณลักษณะต่าง ๆ ดังกล่าว ได้ถ่ายทอดมาสู่ท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม เกี่ยวกับเรื่องนี้ท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน
ได้กล่าวถึงคุณพ่อและคุณแม่ของท่านไว้ว่า  "ท่านทั้งสองเป็นครูต้นแบบ   เป็นปูชนียบุคคลที่สมบูรณ์แบบ   เพราะท่านเป็นแบบอย่างแก่ครูอาจารย์ และ ศิษย์  ตลอดจนบุคคลรอบข้าง   เพราะท่านมีความเมตตากรุณาและมีจาคะ  คือให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านจะให้ได้  สำคัญที่สุดก็คือ  ท่านได้ให้การอบรม สั่งสอน ศิษย์ด้วยตัวของท่านเอง  โดยสอนให้มีคุณธรรม   จริยธรรมและมีระเบียบวินัย  ตามที่ท่านได้ประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีมาโดยตลอด   คุณพ่อจะ ให้ศิษย์กล่าวปฏิญาณตนหน้าเสาธงทุกเช้าโดยใช้หลักของพระพุทธศาสนา  คือคนทำดีจะได้ดี  คนชั่วจะได้บาป  ให้ทุกคนเกรงกลัว การทำบาป  สิ่งเหล่านี้ ได้ติดตามมาจนทุกวันนี้  ศิษย์เก่าของท่านต่างก็ประทับใจในเรื่องการดูแลเอาใจใส่ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกคน   เพราะฉะนั้น ลูกหลาน  ครูอาจารย์และ ศิษย์  จึงถ่ายทอดคุณธรรมเหล่านี้มาเป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน  โรงเรียนจึงมีความเจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ"
 
ด้วยความภาคภูมิใจและด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู  ที่ท่านอาจารย์ประณีต   ดิษยะศรินได้รับการสั่งสมบ่มเพาะมานี้ ท่านอาจารย์ได้กล่าว
แสดงความรู้สึกไว้เป็นปัจฉิมบทแห่งการอาลัยต่อคุณยายลำดวน  ดิษยะศริน  ไว้ดังนี้  "ดิฉันมีความภาคภูมิใจ  ปลาบปลื้มใจ  ที่ได้สืบสานการศึกษา สร้าง เยาวชน  ตั้งแต่ชั้น อนุบาล  จนกระทั่งถึงระดับชั้นขั้นมหาวิทยาลัย  จากปู่-ย่า-พ่อ-แม่-ลูก-หลาน และได้ยึดมั่นที่จะทำนุบำรุงต่อพระพุทธศาสนารวมถึง บำเพ็ญประโยชน์ต่อ ผู้อื่น   และดำรงตนอยู่ในสังคมอย่างมีเกียรติ"
 
นับเป็นอีกบทหนึ่งแห่งความภาคภูมิใจ มิใช่แต่เฉพาะคนในตระกูลดิษยะศริน หากแต่เป็นความภาคภูมิใจของคนในชุมชนท้องถิ่นตลอดจนคนทั้งแผ่นดิน
ที่ได้มีบุคคลซึ่งมีจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูเติบโตและสืบทอดในสิ่งดี ๆ ให้ยั่งยืนยาวต่อไปอย่างมิมีวันสูญหาย