•  
  •  
  •  
 
   
   
 
ท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน   มีความสนใจ   ใส่ใจ  และให้ความสำคัญเป็นพิเศษ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ  ดนตรี   ศิลปะ  ประเพณี และ
วัฒนธรรมของไทย รวมทั้งท่านได้ส่งเสริมให้บุคคลแวดล้อม ทั้งโรงเรียนในเครือหาดใหญ่อำนวยวิทย์และมหาวิทยาลัยหาดใหญ่   ได้ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ และส่งเสริมในสิ่งเหล่านี้
 
ในเรื่องของการอนุรักษ์และส่งเสริมงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ  บ่อยครั้งที่บุคลากรจะได้เห็นท่านอาจารย์ได้สละเวลาอันมีค่าเข้ามากำกับดูแล
เรื่องต่าง ๆ ด้วยตนเอง  ตั้งแต่การสรรหาบุคลากร  รวมไปถึงการบริหารจัดการและดูแลลงไปถึงในรายละเอียดต่าง ๆ รวมทั้งท่านได้มีส่วนร่วมในการกำกับนโยบายที่ เกี่ยวข้องกับ ศิลปวัฒนธรรมไทย   ส่วนหนึ่งด้วยความรักความชอบที่ท่านได้รับการปลูกฝังดูแลมาตั้งแต่เยาว์วัย และส่วนหนึ่งด้วยเพราะเป็นพันธกิจหลักข้อหนึ่งของ มหาวิทยาลัย  ท่านจึงยิ่ง ให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพันธกิจในข้ออื่น ๆ
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของดนตรีไทยนั้น   ท่านอาจารย์ประณีต   ดิษยะศริน  มีความชอบเป็นพิเศษ และด้วยเพราะท่านอาจารย์มีความชอบในสุ้มเสียง
และความไพเราะของดนตรีไทยนี้เอง  ท่านจึงได้ริเริ่มให้มีการจัดงานมหาดุริยางค์ไทยขึ้น  ในปี พ.ศ.2536  เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมี พระชนมายุครบ 60 พรรษา  โดยมีสถาบันทางการศึกษาต่าง ๆ ให้ความร่วมมือในการฝึกซ้อมและเข้าร่วมในโครงการถึง 19  สถาบัน  มีผู้บรรเลงกว่า  200  คน  กิจกรรมในครั้ง นั้นจึงนับได้ว่าเป็นการจัดมหาดุริยางค์ไทยขึ้นเป็นแห่งแรกในภูมิภาค    นอกจากนี้ท่านยังมีส่วนในการจัดให้มีการบรรเลงดนตรีไทยในลักษณะ มหาดุริยางค์เช่นนี้ขึ้นอีกหลายคราว ด้วยกัน
 
ในเรื่องของความสนใจเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมไทยของท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน  นั้น  ท่านอาจารย์ลักขณา  ดิษยะศริน(ตะเวทิกุล) น้องสาวคนเล็ก
ของท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงพี่สาวคนนี้ไว้ว่า  "พี่ณีตมีความรู้  และก็มีรสนิยมในเรื่องการฟังดนตรีไทย  แล้วก็ศิลปวัฒนธรรมไทย เราจะเห็นได้จากงาน ประจำปี มหาวิทยาลัยหรือว่างานโรงเรียน  พี่ณีตจะเป็นคนจัดการว่ามีการแสดงอะไรบ้าง  ก็จะให้คำแนะนำ  แทบจะทุกงาน  ทุกปี  สนุกมาก ๆ ทุกปี  ชื่นชมพี่ณีตว่า  เป็นคนรักษาศิลปวัฒนธรรมไทยได้ดีคนหนึ่ง"
 
นอกจากนี้ อาจารย์ภารดี  เจตะสานนท์  เพื่อนเก่าแก่ของท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน  ได้เล่าความรู้สึกเมื่อได้ไปเยี่ยมชมศูนย์ประณีตศิลป์  
มหาวิทยาลัยหาดใหญ่รวมถึงนึกย้อนกลับไปในสมัยอดีตถึงพื้นฐานของความสนใจในด้านศิลปวัฒนธรรมของท่านอาจารย์ว่า  "ดิฉันไปเยี่ยมชมศูนย์ประณีตศิลป์   ถือว่าเป็นทัศนคติที่ดีที่ ่อาจารย์ประณีตเค้าได้มองเห็นว่าเค้าต้องอนุรักษ์ของโบราณ  ของเก่า  เค้ามีใจรักในส่วนนั้น  ขนาดตอนที่เป็นเด็ก ๆ อาจารย์ประณีตยังได้หัดเล่นขิมเลย"
 
สอดคล้องกับที่  พ.ต.อ.(พิเศษ)เปรม  ชนะรัตน์  เพื่อนนักเรียนรุ่นพี่ของท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน  ได้กล่าวถึงภาพในอดีตที่สะท้อนให้เห็นถึง
การอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมไทยของครอบครัวดิษยะศริน    ซึ่งมีที่มาตั้งแต่สมัยของคุณยายลำดวน  ดิษยะศริน กระทั่งได้มีการถ่ายทอดความรักความชอบ ในศิลปวัฒนธรรมให้แก่ท่าน อาจารย์ประณีต ไว้ดังนี้ "พูดถึงกิจกรรมในโรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์  ในสมัยก่อนจะมีรำวงแบบโบราณ  โดยมี คุณแม่ลำดวนเป็นผู้สอน  และอาจารย์ประณีตก็จะเข้ามาหัดด้วย"
 
ด้วยความรักความชอบเป็นส่วนตัวแล้ว   ท่านยังมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะปลูกฝังสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้    ให้แก่นักเรียนนักศึกษาในปกครองของท่านอย่างเต็มที่
พร้อมกันนี้ในส่วนของลูก ๆ  ของท่านทุกคน   ท่านก็ได้ปลูกฝังให้เห็นคุณค่าของ  ดนตรี   ศิลปะ  ประเพณีและวัฒนธรรมไทยอย่างเต็มที่ด้วย
 
ดังเช่นที่  นางสาวศรินรักษ์   ดิษยะศริน หรือคุณอ้อม  บุตรสาวคนโตของท่านอาจารย์ได้เล่าเกี่ยวกับการส่งเสริมให้ลูก ๆ รักในการเล่นดนตรีด้วยการซื้อ
เครื่องดนตรีให้ฝึกซ้อมตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นเด็กว่า "ตอนอ้อม  โอ๋  โอม  หัดเรียนเปียโน  คุณพ่อคุณแม่ก็ซื้ออิเลคโทนให้ฝึกซ้อมที่บ้าน"
 
นอกจากการอนุรักษ์ส่งเสริมในศิลปวัฒนธรรมแขนงต่างๆแก่นักเรียน   นักศึกษา   และแก่ลูก ๆ ของท่านแล้ว  ท่านอาจารย์ประณีต   ดิษยะศริน ยังมี
ความประสงค์ที่จะสร้างศูนย์ประณีตศิลป์  มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ขึ้นเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชมชุนอีกด้วย   ภายในอาคารศูนย์ประณีตศิลป์จึงประกอบด้วย ส่วนงานต่าง ๆ ที่ส่งเสริม คุณค่าอันเป็นเอกลักษณ์ ไทย   ได้แก่  ห้องดนตรีไทย   โถงฝึกซ้อมการแสดงนาฏศิลป์   หอเกียรติยศ   และที่ได้เปิดบริการโดยไม่จัดเก็บ ค่าเข้าชม   เพื่อเป็นการบริการวิชาการแก่ ชุมชนท้องถิ่นมายาวนานกว่า 3 ปี  ก็คือ  พิพิธภัณฑ์เมืองหาดใหญ่  ซึ่งถือเป็นผลงานที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่คนใน ชุมชนท้องถิ่น   ตลอดจนในแวดวงวิชาการอีกเรื่องหนึ่ง ของท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน
 
เกี่ยวกับความภาคภูมิใจและความประทับใจของผู้ที่ได้เข้ามาสัมผัสเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เมืองหาดใหญ่นี้   นายแพทย์สัมพันธ์  สกุณา เพื่อนสนิทที่นับถือ
กันเสมือนญาติคนหนึ่งของท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน   ได้กล่าวถึงศูนย์ประณีตศิลป์และพิพิธภัณฑ์เมืองหาดใหญ่   ของมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ด้วยความ ภาคภูมิใจในการจัดสร้าง ของท่านอาจารย์ว่า  "ผมไปเยี่ยมชมที่ศูนย์ประณีตศิลป์  รู้สึกประทับใจมาก  อาจารย์ประณีตยอดจริง ๆ สามารถที่จะเอาอะไร มาลงที่พิพิธภัณฑ์เยอะแยะ   ถ้าไม่รักกันจริง ๆ เค้าคงจะไม่ให้วางไว้ในพิพิธภัณฑ์  จำพวกของโบราณต่าง ๆ เยอะแยะสวยงาม  น่าดู  ผมประทับใจ จริง ๆ แปลกจริง ๆ"
 
คงจะกล่าวได้อย่างเต็มปากว่าครอบครัวดิษยะศริน    มีสายเลือดของความเป็นไทยอยู่อย่างเต็มเปี่ยม   โดยได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ
ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม  ทั้งจากท่านอาจารย์ประดิษฐ์  และคุณยายลำดวน  ดิษยะศริน  ซึ่งเป็นผู้มีส่วนอย่างยิ่งในการสนับสนุนให้ลูก ๆ ของท่านรักและชอบ งานด้านนี้
 
เกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจารย์ลักขณา  ดิษยะศริน(ตะเวทิกุล) ได้ กล่าวถึงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยของท่านอาจารย์ประดิษฐ์   ดิษยะศริน  ซึ่งเป็นคุณพ่อ
ของท่านว่า "ท่านมีคุณงามความดีในเรื่องของการรักษาและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยมาโดยตลอด  สนับสนุนให้นักเรียนของท่านได้ฝึกฝน ศิลปรำไทย หัดขับร้อง เพลงไทยเดิม  ตั้งวงดนตรีไทย ส่งเสริมการเรียนดนตรีไทย  นอกจากนี้คุณพ่อก็ยังสนใจดนตรีสากล  ตั้งวงดุริยางค์และ ได้ถ่ายทอดให้กับนักเรียนของ โรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์มาจนถึงทุกวันนี้  นักเรียนทุกคนจะได้รับการถ่ายทอดความรู้เป็นอย่างดี  และฝึกฝนจน สามารถบรรเลงได้อย่างคล่องแคล่ว ระดับมืออาชีพ  เพราะคุณพ่อสนับสนุนให้เด็กทุกคนได้เรียนและฝึกฝนกันอย่างจริงจัง"
 
นอกจากท่านอาจารย์ประดิษฐ์  ดิษยะศริน จะสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมให้แก่ลูก ๆ แล้ว  ท่านยังได้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เอาใจใส่ดูแลแก่หลาน ๆ ด้วย ดังคำที่
คุณอ้อมบุตรสาวคนโตของท่านอาจารย์ประณีตที่ได้กล่าวถึงคุณตาประดิษฐ์  ดิษยะศริน  เอาไว้ว่า  "คุณตาซื้อขิมให้อ้อมหัดเล่น   มีคุณครูสิริมาสอนที่บ้านทุกวัน ตั้งแต่อ้อม อายุ 7  ขวบ  เย็น ๆ เวลาอ้อมซ้อมขิม  เสียงขิมจะดังไปถึงบ้านคุณตา  คุณตาทานข้าวเย็นไปก็ฟังเพลงขิมอ้อมไปด้วย  บางครั้งคุณตาให้ใครมายกขิมให้ อ้อมไปเล่นให้คุณตาฟัง  อ้อมเล่นเสร็จก็ได้รางวัล  แบงค์สีสวย ๆ ทุกครั้ง"
 
เหล่านี้เป็นภาพสะท้อนได้อย่างดีถึงคำกล่าวว่า "ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น"  ซึ่งท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน  ได้ชื่อว่าเป็นกุลธิดาผู้สืบทอดเจตนารมณ์
ของบุพการีมาอย่างมิผิดเพี้ยน นับเป็นบุตรผู้ประเสริฐที่สร้างสรรค์จรรโลงทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของไทย  รวมถึงคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชาติ   และยังได้มีการ ถ่ายทอดต่อไปยังบุตร หลานด้วย  สมควรที่บุคคลโดยทั่วไปจะน้อมนำมาเป็นแบบอย่าง  เพื่อสร้างความสุขความเจริญให้เกิดขึ้นแก่สังคมและประเทศชาติต่อไป