•  
  •  
  •  
 
   
   
โรงเรียนเอกชนแห่งแรกในอำเภอหาดใหญ่
   
 
เมื่อท่านรองอำมาตย์ตรีดัด และคุณทวดเชย  ดิษยะศริน เปิดโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาได้จนเป็นผลสำเร็จ ในปี พ.ศ.2478 จึงนับได้ว่า
"โรงเรียนหาดใหญ่วิทยา" แห่งนี้ เป็นโรงเรียนเอกชนแห่งแรกที่เกิดขึ้นในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นการเปิดโรงเรียนหลังจากที่ภาครัฐได้มีประกาศ พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ผ่านพ้นไป 17 ปี การเปิดการเรียนการสอนของโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาในรุ่นแรกนั้น มีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้น ป.เตรียม ป.1 ไปจนถึง ระดับชั้นมัธยมศึกษา
 
บรรยากาศโดยทั่วไปของเมืองหาดใหญ่ในช่วงนี้ จัดว่าเป็นช่วงที่เมืองกำลังพัฒนา หลายสิ่งหลายอย่างเจริญเติบโตและมีพัฒนาการดีขึ้นโดยลำดับ
จนกระทั่ง เมื่อมีพลเมืองหนาแน่นขึ้น กระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศใช้ในพระราชกฤษฎีกา ยกฐานะเมืองหาดใหญ่ขึ้นเป็น “สุขาภิบาลหาดใหญ่” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2478 ซึ่งในขณะที่ออกประกาศนั้น เมืองหาดใหญ่มีประชากรประมาณ 5,000 คน และในปีเดียวกันนี้เอง นางสาวจงกลนี  ดิษยะศริน น้องสาวของ ท่านอาจารย์ประดิษฐ์  ดิษยะศริน ก็ได้รับเลือกเป็นนางงามประจำจังหวัดสงขลาด้วย
 
การบริหารโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาของท่านรองอำมาตย์ตรีดัด และคุณทวดเชย  ดิษยะศริน ในสมัยนั้น พล.อ.อ.ประหยัด  ดิษยะศริน ได้เล่าไว้ใน หนังสือ
ชีวประวัติ พล.อ.อ.ประหยัด  ดิษยะศริน ปรากฏความดังนี้
   
 
"ผมจำได้ว่าเมื่อผมยังเป็นเด็ก อายุประมาณ 7-8 ขวบ ผมเห็นการทำงานของคุณพ่อคุณแม่ของผม ในการบริหารกิจการของ "โรงเรียนหาดใหญ่วิทยา" ผมจำได้ว่าคุณพ่อและคุณแม่จะทำงานหนักมากต้องตื่นนอนแต่เช้าตรู่ ประมาณตีห้านาฬิกาย่ำรุ่ง คุณพ่อจะดูแลความเรียบร้อยในเรื่องของการศึกษา เช่น ห้องเรียนทุกห้องมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทั้งของครู นักเรียน ภารโรง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ต่างๆ ต้องเรียบร้อย ส่วนคุณแม่ต้องทำงานหนักเช่นกัน ตื่นนอนประมาณตีห้าย่ำรุ่งเหมือนกัน นั่งรถไปจ่ายตลาดกับคนรับใช้ ซื้อข้าวของที่เกี่ยวกับการประกอบอาหารรับประทาน ซึ่งมีทั้งครู นักเรียนประจำ และนักเรียนไปกลับ รวมทั้งภารโรงแม่บ้านคุณแม่เป็นผู้รับผิดชอบดูแลหมดทุกอย่าง เรียกได้ว่าเลี้ยงคนหมดทั้งโรงเรียน ส่วนร้านอาหารที่ขายกับนักเรียนไปมา (หรือไปกลับ)และครู ทั้งคาวหวาน โรงเรียนควบคุมเองทั้งสิ้น ส่วนรสชาติอาหาร คุณแม่เป็นผู้ปรุงเอง เนื่องจากคุณแม่มีฝีมือในการปรุงประกอบอาหาร เรียกได้ว่าเลิศรส ผู้ที่ได้ลิ้มรสจะต้องติดใจทุกคน"
   
 
ศิษย์ของโรงเรียนหาดใหญ่วิทยา ที่ได้รับสืบทอดการศึกษาต่อมาและคนสำคัญ ก็คือ อาจารย์เสงี่ยม  ยศพล  โรงเรียนกิตติวิทย์  อาจารย์พรเพ็ญ 
จิตต์เสภา โรงเรียนพลวิทยา  พ.ต.อ.(พิเศษ)เปรม  ชนะรัตน์  จ่าสิบเอกอนันต์  เรืองกูล (ถึงแก่กรรม)
 
หลังจากที่รองอำมาตย์ตรีดัด และคุณทวดเชย  ดิษยะศริน ดำเนินกิจการบริหารโรงเรียนมาได้ระยะหนึ่ง ท่านก็ได้มอบโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาแห่งนี้ให้แก่
ลูกสาว คือคุณรสสุคนธ์  สัตย์สงวน ซึ่งต่อมาท่านก็ได้เปลี่ยนกิจการไปสร้างโรงแรม ยังผลให้โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาต้องล้มเลิกไป จากนั้นจึงได้มีการย้ายครู นักเรียน รวมถึงพัสดุ อุปกรณ์การเรียนของโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาทั้งหมดไปถวายให้แก่วัดโคกสมานคุณ  และได้ตั้งชื่อโรงเรียนขึ้นใหม่ว่า "โรงเรียนสมานคุณวิทยาทาน" โดยมีอาจารย์ประดิษฐ์  ดิษยะศริน เป็นครูใหญ่คนแรก
 
ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับการเปิดโรงเรียนหาดใหญ่วิทยานี้ สภาพของเมืองหาดใหญ่นอกจากจะมีความเจริญเติบโตในด้านถนนหนทางแล้ว ด้านอื่น ๆ
ก็มีความเจริญพัฒนามากขึ้นด้วย อาทิ มีการตั้งตลาดเอกชนขึ้นในปีเดียวกันนี้ เรียกว่า "ตลาดเจียกีซี" นอกจากนี้ยังมีโรงภาพยนตร์ "สุคนธหงส์" ของคุณพระเสน่หามนตรี(ชื่น  สุคนธหงส์) เกิดขึ้นด้วย ซึ่งเหล่านี้ล้วนมีส่วนทำให้บรรยากาศหลายๆ ด้านของเมืองหาดใหญ่เริ่มคึกคักขึ้น
 
มีเอกสารหลักฐานที่บ่งบอกสภาพของเมืองหาดใหญ่ในยุคสมัยนั้นได้พอเลาๆ ผ่านบทความตอนหนึ่งของวิทย์  บุญรัตน์ นักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเสมือน
ผู้สังเกตการณ์ที่ได้มีโอกาสมาเยือนเมืองหาดใหญ่ และได้นำบันทึก "สภาพเมืองหาดใหญ่" ในยุคสมัยนั้นลงตีพิมพ์ในหนังสือ "กรุงเทพฯวารศัพท์" เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2479 ปรากฏข้อความดังนี้
   
 
"หาดใหญ่นี่แหละเปนสูนย์กลางของการค้าแร่ดีบุกเปนส่วนมากและแร่ทุกชนิด ยางพารารับเบอร์และการปลูกยาง  มันสำปะหลังสำหรับการทำสาคูส่งต่างประเทศ ในภาคใต้ของประเทศสยาม เปนสูนย์กลางของทางรถไฟในภาคใต้ แยกไปสงขลา ปัตตานี และปาดังเบซาร์ ทั้งเปนอำเภอ ๆ เดียวในภาคใต้ที่มีการติดต่อ กับต่างประเทศและมีความเจริญครึกครื้นเทียบเท่าที่ตั้งของจังหวัดทีเดียว"
   
 
ต่อจากนั้นมาในปี พ.ศ.2480 อาจารย์ประดิษฐ์  ดิษยะศริน ซึ่งมีอายุครบ 22 ปี ก็ได้สมรสกับคุณยายลำดวน  ดิษยะศริน (จามิกรณ์) มีบุตรและธิดา
รวม 3 คน ได้แก่ ท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน นายณรงค์   ดิษยะศริน และท่านอาจารย์ลักขณา  ดิษยะศริน(ตะเวทิกุล)