•  
  •  
  •  
 
   
   
 
ในปี พ.ศ.2538 ได้มีเหตุการณ์ซึ่งเปรียบเสมือนกับเป็นการจุดประกายให้กับครอบครัวดิษยะศริน ชนิดที่กล่าวได้ว่า “ไม่เคยคิดฝันมาก่อน”  ดังที่
ท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน ได้เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งสำคัญไว้ ดังนี้
   
 
"ระหว่างการสนทนากันในรถยนต์ ในขณะที่ไปส่งท่าน ดร.รุ่ง  แก้วแดง ตำแหน่งของท่านในขณะนั้น คือ เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งท่านได้เดินทางมาเป็นประธานเปิดการแข่งขันกีฬาสีของโรงเรียนในเครือหาดใหญ่อำนวยวิทย์ และตอนหนึ่งของการสนทนา ท่าน ดร.รุ่ง  แก้วแดง ได้ปรารภ ขึ้นมาว่า "สถานศึกษาในเครือหาดใหญ่อำนวยวิทย์ มีศักยภาพเพียงพอที่จะยกระดับการศึกษาในภูมิภาคนี้ ด้วยการขยายโอกาสให้กับเยาวชน โดยการเปิดหลักสูตร การเรียนการสอนในระดับที่สูงกว่าปัจจุบันสมควรแล้วที่อาจารย์ประณีต ควรจะได้ขยายไปถึงระดับอุดมศึกษา เพื่อได้ช่วยเหลือผู้ปกครองและนักศึกษา เพราะจะได้อยู่ใกล้บ้านและประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งโรงเรียนในเครือหาดใหญ่อำนวยวิทย์ ก็มีความเป็นปึกแผ่นอยู่แล้ว"
   
 
หลังจากที่ได้รับคำแนะนำดังกล่าวแล้ว ท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน ก็นำความกลับมาเล่าให้ลูกๆ ฟัง ซึ่งลูกทุกคนก็เห็นด้วย และลูก ๆ ก็ยังได้บอกอีก
ว่า "หากเราจะทำก็ทำได้ทันที"
 
จากประกายความคิดแค่เพียงเล็กๆ จึงค่อยๆผุดพรายเป็นโครงร่างที่แจ่มชัดขึ้น เมื่อทุกคนเริ่มระดมสมอง และร่วมกันวางแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการ
จัดตั้งมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกของภาคใต้โดยไม่รอช้า
 
สองสามวันต่อมา ท่านอาจารย์ประณีต ก็ได้เดินทางไปยังทบวงมหาวิทยาลัย พร้อมกับบุตรสาว คือ ดร.ภัคชนิตร  สัตยารักษ์ และถือเป็นโชคดี
ที่ผู้อำนวยการสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในสมัยนั้น คือ  ดร.ฉันทวิทย์  สุชาตานนท์ ได้ให้คำแนะนำ สนับสนุนและช่วยเหลือเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ดร.วิทวัส  ดิษยะศริน สัตยารักษ์ บุตรชายคนโตก็ได้เป็นกำลังสำคัญในการศึกษาค้นคว้าและร่างโครงการจัดตั้งวิทยาลัยเมืองหาดใหญ่ ใช้เวลาประมาณ 2 ปีเศษจึงแล้วเสร็จ ในการนี้ได้รับ คำแนะนำเป็นอย่างดี ในเรื่องการวิเคราะห์งบประมาณการเงิน จาก ผศ.ดร ชัยนรินทร์  วีระสถาวณิชย์ โดยมีผู้จัดทำหลักสูตรตั้งแต่เริ่มต้น คือ รศ.พสุ  สัตถาภรณ์ รองอธิการบดีอาวุโส และมี คุณบรรจบ  แสงจันทร์ ดูแลในด้านการก่อสร้าง จนในที่สุดก็ได้รับอนุญาตจัดตั้ง "วิทยาลัยเมืองหาดใหญ่" หรือ "Hatyai  City  Collage" อักษรย่อ "HCC"ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2540 โดยนายมนตรี  ด่านไพบูลย์ รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เป็นผู้ลงนาม และมีท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน เป็นผู้รับใบอนุญาต
 
ถือเป็นจุดกำเนิดของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งแรกในภาคใต้ตอนล่าง และนับเป็นความภาคภูมิใจอีกครั้งหนึ่งของโรงเรียนในเครือหาดใหญ่อำนวยวิทย์
ที่ได้สร้างสถานศึกษา นามว่า "วิทยาลัยเมืองหาดใหญ่"
 
เมื่อได้เปิดการเรียนการสอน ท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน และอาจารย์วิจิตร  จันทรากุล อธิการบดีในสมัยนั้น ก็ได้จัดปฐมนิเทศโดยการให้โอวาท
รวมถึงกล่าวต้อนรับนักศึกษาในรุ่นแรกด้วยความรักและความห่วงใย เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2540 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นอันสำคัญอีกก้าวหนึ่งของวิทยาลัยเมือง หาดใหญ่ ที่ยังคงจารึกอยู่ในความทรงจำของผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดมา
 
และเนื่องในโอกาสอันสำคัญนั้น อาจารย์เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ กวีรัตนโกสินทร์ และศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ประจำปี พ.ศ.2536
ได้เขียนบทกลอนกล่าวถึงวิทยาลัยเมืองหาดใหญ่ว่า
   

"วิทยาลัยเมืองหาดใหญ่
วิทยาลัย  ผู้รู้   ผู้สร้างสรรค์
รู้คิด   รู้ทำ   สำเร็จพลัน
ปลูกปั้น  ปัญญา  สง่างาม"


อาจารย์เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์

   
 
หลังจากนั้นคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย จึงได้จัดให้มีพิธีเปิดวิทยาลัยเมืองหาดใหญ่ขึ้น ในปี พ.ศ.2541 โดยมีสารจาก ฯพณฯ นายชวน  หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี แสดงความยินดีอย่างเป็นทางการ
 
กว่าที่จะดำเนินการมาถึงขั้นนี้ได้นั้น ท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน และลูกๆ ต้องฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ
การเขียนโครงการจัดตั้งวิทยาลัยเมืองหาดใหญ่ หรือเรื่องของการหาพื้นที่เพื่อจัดตั้งวิทยาลัยเมืองหาดใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องการหาพื้นที่ที่จะจัดตั้งวิทยาลัยในสมัยนั้น ท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน ได้เล่าถึงสภาพทำเลและการริเริ่มบุกเบิก ในช่วงที่กำลังขออนุญาตจัดตั้งวิทยาลัยเมืองหาดใหญ่ไว้ ดังนี้
   
 
"พื้นที่ที่จะจัดตั้งวิทยาลัยเมืองหาดใหญ่ในขณะนั้น มีสภาพเป็นท้องทุ่งนา ไม่มีต้นข้าว ปกคลุมด้วยป่าละเมาะตั้งอยู่ในหมู่บ้านคลองหวะ จึงได้พัฒนาที่ดินเรื่อยมา จนกระทั่งได้สร้างอาคารหลังแรกขึ้น ในปี พ.ศ.2538 ชื่อว่าอาคาร "สงขลา" บนพื้นที่ 30 ไร่ ในคณะบริหารธุรกิจ  มีนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เพียง 180 คน ซึ่งขณะนั้นมีการเปิดการเรียนการสอน 3 สาขาวิชา คือ สาขาการบัญชี สาขาการตลาด สาขาการจัดการ ต่อมาเมื่อมีนักศึกษาเพิ่มขึ้นตามลำดับ  จึงได้เพิ่มคณะต่างๆ เช่น คณะศิลปศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2544"