สารจากอธิการบดี


            สภาพสังคมโลกและประเทศไทยในช่วงปี 2563 - 2564 ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติการระบาดของโรคระบาดไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ส่งผลให้มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ได้ปรับกระบวนการจัดการเรียนรู้ กระบวนการวิจัย ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ รวมทั้งกำหนดแนวคิดและรูปแบบการนำสื่อสังคมออนไลน์มาใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งถือเป็นการสร้างและพัฒนานวัตกรรมในการวิจัยให้สอดคล้องกับสภาพการเปลี่ยนแปลง เพื่อมิให้ส่งผลต่อการวิจัยแต่ยังคงอยู่ของคุณภาพและความเที่ยงตรงขององค์ความรู้จากการวิจัยให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และสามารถใช้แก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสังคมได้อย่างแท้จริง ด้วยกระบวนการบริหารจัดการที่บูรณาการงานวิจัย กับการเรียนการสอนและการบริการวิชาการ ตลอดจนการจัดการความรู้จากการวิจัยเผยแพร่สู่สาธารณชน

            ในนามของมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ขอขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท)ที่ให้การสนับสนุนกิจกรรมทางวิชาการในครั้งนี้ ขอขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมประเมินผลงานวิจัย และผู้ร่วมกิจกรรมการประชุมทางวิชาการทุกท่าน ตลอดจนคณะกรรมการดำเนินโครงการที่มีส่วนร่วมในการจัดการประชุมให้การประชุมหาดใหญ่วิชาการระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 12 ให้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ทุกประการ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความรู้ที่ได้รับจากการนำเสนอผลงานทางวิชาการครั้งนี้จะสามารถนำไปสู่การสร้างประโยชน์ให้กับองค์กร ชุมชน และสังคม อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศต่อไป

ดาวน์โหลดสารจากอธิการบดี


(ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิทวัส ดิษยะศริน สัตยารักษ์)
อธิการบดีมหาวิทยาลัยหาดใหญ่                      




สารผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัย


            การเผยแพร่ผลงานวิจัยเป็นบทบาทที่สำคัญอย่างหนึ่งที่สถาบันอุดมศึกษา และผู้วิจัยต้องตระหนักในความรับผิดชอบ เพื่อการนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการวิจัยไปสู่หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน นำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์    เชิงนโยบาย    และเชิงสังคม    นอกจากนี้นักวิจัยยังสามารถนำผลการวิจัยไปขยายผลและต่อยอดงานวิจัยต่อไป ด้วยความตระหนักในความสำคัญดังกล่าว มหาวิทยาลัยหาดใหญ่จึงได้ดำเนินการเผยแพร่ผลงานวิจัยทั้งในรูปแบบการจัดทำวารสารหาดใหญ่วิชาการ และการจัดประชุมทางวิชาการ เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้เผยแพร่ผลงานวิจัย โดยเฉพาะการจัดการประชุมหาดใหญ่วิชาการระดับชาติและนานาชาติ    มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดมา และการจัดครั้งนี้เป็นการจัด ครั้งที่ 12 ซึ่งจุดเด่นของรูปแบบการเผยแพร่ในลักษณะนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้พบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมกันพัฒนาโจทย์วิจัย ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นการช่วยให้เกิดการพัฒนาโจทย์วิจัย และการเรียนรู้กระบวนการวิจัย นอกจากนี้ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม 20 ปี    (พ.ศ. 2560 - 2579)    ได้กำหนดกรอบแนวทางการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม        ในลักษณะการบูรณาการศาสตร์ ดังนั้นการร่วมกิจกรรมการประชุมวิชาการจะช่วยให้นักวิจัยได้มีโอกาสพัฒนาโจทย์วิจัยร่วมกันได้ แต่ด้วยสภาพสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) แต่มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ยังตระหนักถึงความสำคัญของการเผยแพร่ผลงานวิจัยจึงยังคงจัดกิจกรรมดังกล่าว แต่จะดำเนินการด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดโครงการโดยการนำระบบเทคโนโลยี และสารสนเทศมาบูรณาการในการนำเสนอโดยการใช้รูปแบบของระบบออนไลน์เข้ามาแทน ซึ่งได้ดำเนินการตั้งแต่การประชุมหาดใหญ่วิชาการระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 11 และพบว่า ผลการดำเนินงานในปี 2563 ที่ผ่านมาสามารถดำเนินการไปได้ด้วยดี ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงและเสมือนจริง จึงเห็นควรนำรูปแบบการจัดประชุมดังกล่าวมาใช้ในการประชุมครั้งที่ 12 ต่อไป เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินโครงการ

            ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ขอขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมเป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในการนำเสนอผลงานวิจัย และประเมินผลงานวิจัย รวมทั้งผู้ร่วมกิจกรรมการประชุมทางวิชาการทุกท่าน ตลอดจนคณะกรรมการดำเนินโครงการที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้การประชุมหาดใหญ่วิชาการระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 12 ที่ทำให้การดำเนินการประชุมวิชาการครั้งนี้ สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ทุกประการ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลงานทางวิจัยที่ได้จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อสาธารณะ ชุมชน สังคมและประเทศชาติสืบไป

ดาวน์โหลดสารผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัย


(รองศาสตราจารย์ทัศนีย์ ประธาน)
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัย