คำกล่าวสุนทรพจน์ของผู้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

พิธีประสาทปริญญาบัตร รุ่นที่ ๒๔ - ๒๕ ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๕ - ๒๕๖๖
ณ อาคารศูนย์กีฬาและกิจการนักศึกษา

นายประคอง เตกฉัตร

ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
สาขานิติศาสตร์ ประเภททั่วไป ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๖

          เรียน ท่านอธิการบดีฯ ท่านผู้ก่อตั้งและอุปนายกสภาฯ คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยฯ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ และผู้บริหารคณะต่าง ๆ เหล่าคณาจารย์ บัณฑิต
และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน

          กระผมรู้สึกเป็นเกียรติและมีความปลื้มปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทางสภามหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้กรุณามีมติเห็นชอบมอบปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชานิติศาสตร์ ประเภททั่วไป ให้กระผมในวันนี้ นับว่าเป็นเกียรติยศแก่ตัวผมเอง ครอบครัว และวงศ์ตระกูลอย่างสูงยิ่ง

          ตัวกระผมเองเป็นชาวอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลาโดยกำเนิด คุณปู่และคุณย่ามีอาชีพค้าขาย โดยใช้เรือเร่ขายของอยู่ในคลองอู่ตะเภาข้าง ๆ มหาวิทยาลัยแห่งนี้มาตั้งแต่ยังใช้เรือแจว และกางใบเรือเมื่อออกสู่ทะเลสาบสงขลา หรืออ่าวไทย โดยครอบครัวเราซื้อสินค้าพื้นเมืองล่องจากคลองสะทิ้งหม้อมาขายที่เกาะยอ บ้านปากบาง บ้านท่านางหอม ตามลำดับ แล้วแล่นเรือเข้ามาในคลองอู่ตะเภาที่บ้านท่าโพธิ์ ขายสินค้าตามท่าน้ำสองฝั่งลำคลอง คืนวันพุธเราจะจอดเรือนอนกันที่ท่าน้ำหน้าวัดคูเต่า เพราะรุ่งขึ้นมีตลาดนัดท่าน้ำวันคูเต่า ในคืนวันพฤหัสบดีนั้นเราจะนอนที่ท่าน้ำหน้าตลาดนัดคดยาง เพราะวันศุกร์ต้องขายและซื้อสินค้าที่นี่ วันศุกร์เราจะจอดเรือนอนที่หน้าวัดท่าหยี เพราะวันเสาร์มีตลาดนัดที่วัดท่าหยี ส่วนคืนวันเสาร์เราจะจอดเรือนอนที่ท่าน้ำหน้าวัดหาดใหญ่ใน เพราะวันอาทิตย์มีตลาดนัดที่ท่าน้ำวัดหาดใหญ่ใน เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทหารญี่ปุ่นแพ้สงครามก่อนจะกลับประเทศได้ขายเครื่องยนต์ต่าง ๆ คุณปู่ได้ไปติดต่อซื้อมาติดเครื่องเรือแทนใช้คนแจว จนเมื่อพ่อเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น คุณปู่สร้างเรือยนต์ให้พ่อแยกไปแล่นรับส่งผู้โดยสารระหว่างเมืองสงขลาไปอำเภอระโนด ชื่อเรือ “ เจริญผล” โดยแล่นเรือผ่านบ้านป่าขาด บ้านปากรอ บ้านชะแล้ บ้านบางเขียด บ้านท่าหิน บ้านคูขุด บ้านดอนคัน บ้านคลองรี บ้านท่าคุระ หมู่บ้านต่าง ๆ ริมทะเลสาบของอำเภอสะทิ้งพระ อำเภอกระแสสินธุ์ และอำเภอระโนด ส่วนใหญ่สินค้าที่รับจ้างบรรทุกเรือคือข้าวสาร นำมาส่งใน ตัวเมืองสงขลา ทำให้คุณพ่อเข้าใจระบบการค้าข้าว บ้านเราจึงทำกิจการโรงสีและฟาร์มสุกรเป็นหลักตั้งแต่นั้นมาอีกอาชีพหนึ่ง ขณะที่คุณปู่และคุณย่าก็ยังค้าขายในคลองอู่ตะเภาตามปกติ เมื่อผมเริ่มเข้าโรงเรียนมีการตัดถนนสายหัวเขาแดงไปอำเภอสะทิ้งพระจนถึงอำเภอระโนด ประชาชนไม่นิยมนั่งเรือเพราะเริ่มมีรถโดยสารประจำทางแล่นถึงสงขลาได้เร็วขึ้นและปลอดภัยกว่า คุณพ่อจึงขายเรือยนต์มาต่อรถด้วยไม้แล่นโดยสารระหว่างตำบลม่วงงามมาท่าเรือหัวเขาแดง เพื่อให้ผู้โดยสารข้ามเรือหางยาวไปฝั่งสงขลา ต่อมาเมื่อมีแพขนานยนต์ข้ามฟากจึงทำให้พ่อสามารถขับรถโดยสารเข้ามาถึงในตัวเมืองสงขลาได้ เมื่อมีการตัดถนนเลียบคลองอู่ตะเภาสินค้าจากตัวเมืองหาดใหญ่เริ่มเข้าไปขายแข่งขัน ประชาชนสองฝั่งคลองออกมาซื้อสินค้าในตัวเมืองหาดใหญ่โดยรถยนต์สะดวกขึ้นมากกว่ามาทางเรือ ตลาดนัดก็มีคนมาซื้อขายสินค้าน้อยลง เราจึงต้องเลิกราการค้าขายในคลองอู่ตะเภาไปในที่สุด เมื่อถนนหนทางสะดวกขึ้นรถยนต์โดยสารเริ่มมีมากขึ้น เมื่อเริ่มมีการลาดยางถนนสายสงขลา - ระโนด และมีการตัดถนนไปสู่จังหวัดนครศรีธรรมราช ผ่านอำเภอหัวไทรและปากพนังทำให้มีรถโดยสาร มากขึ้น ครอบครัวเราจึงต้องหยุดกิจการรถโดยสารหันมาทาโรงสีและเลี้ยงสุกรเป็นหลัก และเริ่มต้นสร้างรถไถนาเพื่อรับจ้างไถนาแทน เมื่อพวกเราเริ่มเรียนจบและเริ่มทางาน คุณพ่อคุณแม่จึงหยุดกิจการโรงสีและเลิกฟาร์มเลี้ยงสุกร

          เมื่อครั้งที่ผมได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลจังหวัดพัทลุง ได้รับการทาบทามจากท่านคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ในขณะนั้นว่า ท่านอาจารย์ประณีต ดิษยะศริน ผู้รับใบอนุญาต มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ และเป็นผู้บริหารโรงเรียนในเครือหาดใหญ่ อำนวยวิทย์ ในขณะนั้น ทั้งเคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา ประสงค์จะเรียนเชิญผมมาเป็นอาจารย์พิเศษเพื่อบรรยายกฎหมายในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ซึ่งขณะนั้นผมเป็นอาจารย์พิเศษบรรยายกฎหมายให้แก่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในภาคใต้อยู่บ้าง ผมจึงเข้าพบท่านอาจารย์ประณีตและตกลงรับเป็นอาจารย์พิเศษให้คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งคณะนิติศาสตร์ และต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่กรรมการกำกับวิชาการของคณะนิติศาสตร์อีกหน้าที่หนึ่งมาจนถึงทุกวันนี้ และด้วยเหตุที่รับบรรยายที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่นี้เองทำให้ผมได้รับการติดต่อให้ไปเป็นอาจารย์พิเศษบรรยายกฎหมายในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อีกหลายแห่งทั่วประเทศ แต่ช่วงหลังหน้าที่ การงานผมเริ่มสูงขึ้น ภาระงานมากขึ้น และอายุผมก็เริ่มมากขึ้นด้วย ทำให้ปัจจุบันนี้ผมได้หยุดการบรรยายกฎหมายตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ลง คงมีการบรรยายกฎหมายอยู่ที่มหาวิทยาลัยหาดใหญ่แห่งนี้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น เพราะวิชากฎหมายอิสลามที่ผมบรรยายอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น ยังหาคนมาบรรยายแทนไม่ได้ หลายสิบปีที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ผลิตนักกฎหมายออกไปทำงานรับใช้สังคม ประเทศชาติ ไม่ว่าเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ทหาร ทนายความ เจ้าพนักงานที่ดิน ปลัดอำเภอ นิติกรในหน่วยงานราชการต่าง ๆ บริษัท ห้างร้าน หรือแม้แต่ไปประกอบธุรกิจส่วนตัวจนประสบผลสำเร็จมีอาชีพ และมีครอบครัวที่มั่นคงจำนวนมาก ทุกครั้งที่ได้พบปะพูดคุยกับลูกศิษย์เหล่านี้ผมรู้สึกตื้นตันใจและภาคภูมิใจในตัวพวกเขาอย่างมาก ผมตัดสินใจไม่ผิดที่ตกลงรับบรรยายกฎหมายที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ กับท่านอาจารย์ประณีตในวันนั้น มหาวิทยาลัยหาดใหญ่แห่งนี้ มีคุณูปการแก่ประชาชนในภาคใต้ตอนล่างเป็นอย่างมากที่ไม่ต้องเข้าไปศึกษาต่อในกรุงเทพมหานคร หรือเดินทางไปศึกษาในที่ห่างไกล มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ได้สร้างคน สร้างงาน สร้างชีวิต จนเป็นที่กล่าวขานของแวดวงนักวิชาการด้านการศึกษาว่า ที่นี่เป็นคลังปัญญาแห่งหนึ่งของพี่น้องประชาชนชาวภาคใต้ เงื่อนไขสำคัญที่สุดของ “ความอยู่รอด” หรือ “การล้าหลัง” หรือ”การล่มสลาย” หรือ “ การเจริญก้าวหน้า ” ของประเทศชาติของเรา อาจไม่ได้อยู่ที่ความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไม่ได้อยู่ที่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำได้สำเร็จหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่การมีอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพที่ทันสมัยมีมากพอหรือไม่ หรือการวิวัฒนาการในทางการเมืองที่ล้ำหน้ากว่าประเทศใด ๆ แต่ขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถ และสติปัญญาของชนในชาติ จงภาคภูมิใจเถิดว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้และพวกเราเหล่าคณาจารย์ได้ปฏิบัติอย่างเต็มกำลังในการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถ และสติปัญญา อย่างมีเกียรติยศ มีศักดิ์ศรี เพื่อรับใช้สังคมและประเทศชาติตามเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะพัฒนาเยาวชนของชาติในการศึกษาระดับสูงควบคู่ไปกับการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ การรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการให้เยาวชนได้ระลึกถึงการนำความรู้ ความสามารถ และคุณธรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตนเองและส่วนรวม

          ผมเป็นนักกฎหมาย ผมมีความเชื่อว่ามนุษย์เราได้เรียนรู้ถึงความจำเป็นในอันที่จะต้องอยู่ร่วมกันอย่างมีระเบียบและกติกา อันเป็นหลักในการปฏิบัติ เพื่อที่จะควบคุม ดูแล ป้องกัน คุ้มครอง ตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของชุมชน เพื่อให้ในชุมชนนั้น ๆ เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งหลักการดังกล่าวนี้ในต่อ ๆ มาได้วิวัฒนาการมาเป็นกฎหมายของประเทศต่าง ๆ การมีกฎหมายนั้นแสดงว่าต้องมีชุมชนหรือสังคมในที่นั้น ๆ อยู่ก่อนแล้ว เพราะการมีชุมชนและสังคมที่เป็นปึกแผ่นนั้น แสดงว่าที่นั้นต้องมีหลัก มีกฎ หรือระเบียบแบบแผน อันเป็นรากฐานของสังคมและชุมชนนั้น ๆ มิฉะนั้นสังคมและชุมชนนั้นจะอยู่ไม่ได้ และกฎหมายนั้นย่อมต้องมีอยู่ตลอดไปหากสังคมและชุมชนนั้นยังคงตั้งมั่นอยู่ เพราะกฎหมายจะเป็นหลักการที่จะก่อให้เกิดความสงบสุขและมั่นคงขึ้นในสังคม

          กฎหมายนั้นเป็นกฎหรือหลักที่เกี่ยวกับความประพฤติ หรือการกระทำของบุคคลที่แสดงออกมาภายนอก จึงจำเป็นต้องมีสถาบันที่ทำหน้าที่เป็นผู้บัญญัติ ผู้ประกาศใช้ ผู้อธิบายหรือแปลความหมาย และต้องมีผู้บังคับใช้เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของตัวบทกฎหมายที่บัญญัติไว้ ไม่ว่ากฎหมายนั้นจะพัฒนามาจากกฎธรรมชาติ เหตุผลตามหลักศาสนา ธรรมเนียม ประเพณี หรือค่านิยมก็ตาม

          เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติมีการตรากฎหมายขึ้นมาบังคับใช้ เราต้องเข้าใจให้ได้ว่ากฎหมายนั้นไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราจะแตะต้องไม่ได้ ไม่เห็นด้วยไม่ได้ เรามีสิทธิที่จะไม่เห็นด้วยกับตัวบทกฎหมายที่บังคับใช้ เรามีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์ตัวบทกฎหมาย ไม่ว่าทั้งด้านที่มา เนื้อหา หรือการบังคับใช้ การแปล การอธิบายขยายความ เรามีสิทธิ์ที่จะเสนอแก้ไข เปลี่ยนแปลง แม้แต่การประนามผู้ที่นำกฎหมายไปใช้ในทางที่ไม่ถูกไม่ควรก็สามารถทำได้ แต่จำต้องกระทำภายในกรอบที่กฎหมายอนุญาตไว้เท่านั้น แต่เราจะไม่ปฏิบัติตามตัวบทกฎหมายที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ไม่ได้ แม้เราจะไม่เห็นด้วยก็ตาม

          กฎหมายของประเทศนั้น แม้จะตราหรือบัญญัติขึ้นมาให้มีความถูกต้องเป็นธรรมทั้งเนื้อหาและความเป็นมา ตลอดจนถ้อยคำหรือภาษาที่ครอบคลุมบริบทต่าง ๆ ในสังคมได้อย่างครบถ้วนเพียงใด ก็ตาม แต่ถ้าปราศจากการบังคับใช้ที่สุจริต ถูกต้องเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพประกอบอยู่ด้วยแล้ว ประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนจะได้รับจากกฎหมายย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ ลำพังแต่ตัวบทกฎหมาย ไม่สามารถทำให้ความยุติธรรมบังเกิดผลแก่ประชาชนได้ การบังคับใช้กฎหมายจึงต้องกระทำเพื่อบรรลุเป้าหมายของความยุติธรรมด้วยเช่นเดียวกัน ผู้มีอำนาจที่บังคับใช้กฎหมาย สังคมและประชาชน จึงควรให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายที่ตรงไปตรงมา ถูกต้อง เที่ยงธรรม เสมอภาค แก่ประชาชนทุก ๆ คน โดยไม่มีใครมีสิทธิพิเศษอยู่เหนือกฎหมาย

          การเรียนรู้กฎหมายแต่เพียงอย่างเดียวไม่อาจนำพาสังคมประเทศชาติให้เจริญรุดหน้าได้ ทุกคนในชาติไม่ว่าจะมีเผ่าพันธุ์หรือเชื้อชาติใดมาก่อน ไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของประเทศ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ต้องรู้รักสามัคคี เข้าอกเข้าใจ ให้เกียรติและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือดูแลเอาภาระกัน เพราะความยุติธรรมของชนในชาตินั้นอยู่เหนือจากตัวบทกฎหมาย ทุกคนต้องยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และการวางทีท่าที่เหมาะสมซึ่งกันและกัน ปราศจากอคติ ซึ่งเป็นพื้นฐานทางกฎหมาย ไม่ว่าการบัญญัติกฎหมาย การตีความกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และหลักในการปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรมตามที่กฎหมายบัญญัติ จะต้องไม่ฝ่าฝืนหรือขัดกับหลักนิติธรรมอันเป็นหลักพื้นฐานของกฎหมายที่สังคมโลกให้การยอมรับ

          หลักคุณธรรมทั้งสามประการ คือ ๑. ความซื่อสัตย์ ซื่อตรง ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ๒. ความรับผิดชอบ ตั้งใจทำงานในหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ๓. การมีน้ำใจ มีจิตอาสา ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ที่พวกเราชาวมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ได้สั่งสอน อบรม และปฏิบัติต่อ ๆ กันมานั้น ย่อมที่จะเป็นเกราะอันแข็งแกร่งที่จะพิทักษ์รักษา และส่งเสริมให้บัณฑิตทุก ๆ ท่านที่ประชุมกันอยู่ ณ หอประชุมแห่งนี้ ให้มีความมั่นคง แข็งแรง ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และดำรงอยู่อย่างมีเกียรติยศและศักดิ์ศรี ตลอดไป

          ในโอกาสนี้กระผมใคร่ขอขอบพระคุณท่านอธิการบดีฯ ท่านผู้ก่อตั้งและอุปนายกสภาฯ คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยฯ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ และผู้บริหารคณะต่าง ๆ เหล่าคณาจารย์ บัณฑิต และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน อีกครั้งหนึ่ง ขอบพระคุณครับ

  

นายประคอง เตกฉัตร     
รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค ๙
๑๘ / ๘ / ๖๗        

  

Back