ทำไมถึงรักต้นไม้ดั่งชีวิต

“สิ่งที่น่าภาคภูมิใจและประทับใจอย่างยิ่งและเป็นมงคลกับสถาบัน คือ เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จ ฯ เปิดอาคารยูพลาซ่า เมื่อ พ.ศ. 2552 พระองค์ได้ปลูกต้นบารมีที่หน้าอาคาร และเมื่อพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ได้เสด็จฯ เปิดพิพิธภัณฑ์ “ศูนย์ประณีตศิลป์” พ.ศ. 2550 ก็ได้ทรงปลูกต้นมะหาด ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ณ วันนี้เป็นต้นไม้ทรงพุ่มงาม สูงตระหง่านอยู่กลางศูนย์ประณีตศิลป์

คิดว่าทุก ๆ คน คงรักและชอบต้นไม้ แต่สำหรับตัวครูมีความรักและผูกพันกับต้นไม้มาก ขาดเสียมิได้เลย ตื่นเช้ามาหากไม่มีกิจกรรมใด ก็ต้องเวียนไปดูต้นไม้ในมหาวิทยาลัยและโรงเรียน (รวมทั้งสิ่งแวดล้อม ภูมิทัศน์ ความสะอาดของสถานที่ต่าง ๆ) ว่าต้นไม้สดชื่นไหม คนสวนได้รดน้ำพรวนดินให้ไหม ฝ่ายดูแลต้นไม้ก็ต้องบำรุงรักษา ใส่ปุ๋ยเป็นประจำ รายสัปดาห์ รายเดือน ราย 3 เดือน แล้วแต่ลักษณะของต้นไม้

เดิมทีเดียวก็ได้ปลูกในโรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์พณิชยการ เป็นโรงเรียนที่คุณปู่ไพรัช คุณย่าพิศ ยกที่ดินให้ตั้งโรงเรียนเมื่อ พ.ศ. 2523 ในพื้นที่ 4 ไร่เศษ ได้ปลูกไม่จุใจส่วนมากก็เป็นต้นไม้ยืนต้นได้ร่มเงา เช่น ต้นชมพูพันธ์ุทิพย์ เป็นต้นไม้ประจำโรงเรียน ต้นไทร ต้นมะม่วง ต้นมังคุด ต้นลองกอง เป็นต้น ต้นไม้ดอกหลาย ๆ ชนิด และต้นไม้ดอก ไม้ประดับต่าง ๆ ไว้ให้เด็กได้ศึกษา

ถึงยุคของวิทยาลัยเมืองหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ได้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2540 ในพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ และปัจจุบันมีพื้นที่ถึง 132 ไร่ ก็ยิ่งได้ปลูกต้นไม้สมใจ จนล้น โดยมีฝ่ายวิศวกรรมและอาคารสถานที่ได้ช่วยเหลือตั้งแต่หาพันธุ์ต้นไม้จากป่าไม้จังหวัดสงขลา ป่าไม้จังหวัดพัทลุง ป่าไม้จังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร ราชบุรี กรุงเทพฯ และสั่งซื้อช่วยปลูกและดูแลรักษา และที่น่าภูมิใจก็คือ ต้นไม้ประจำจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด”

กลับหน้าแรก