คำกล่าวสุนทรพจน์ของผู้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

พิธีประทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๔ รุ่นที่ ๑๓
ณ อาคารศูนย์กีฬาและกิจการนักศึกษา

นายสรณ์ จงศรีจันทร์

ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประเภททั่วไป

          สวัสดีท่านผู้บริหารมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ คณาจารย์ และบัณฑิตทุกคน ผมมีนิทานสั้น ๆ เล่าให้ฟังสี่เรื่อง

          นิทานเรื่องแรกเรียกว่า “พอเพียง” ผมอยากจะฝากแง่คิดให้แก่บัณฑิตทุกคนในหอประชุมแห่งนี้ว่า หลังจากวันนี้เป็นต้นไป บัณฑิตทุกคนจะต้องออกไปสู่โลกแห่งความเป็นจริงในการทำงาน หรือบางคนอาจจะศึกษาต่อในระดับปริญญาที่สูงขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเราต้องเข้าใจคือเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นสิ่งที่ ในหลวงได้พระราชทานให้พวกเราได้นำแนวคิดนี้ไปใช้ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น ในระยะเวลาสองสามปี ที่ผ่านมาเหมือนกับในตำราในหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า การตลาด 3.0 แต่สิ่งที่ในหลวงท่านได้ฝากไว้ เป็นระยะเวลา นานมาก กว่าที่ผมจะจำความได้ เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่พวกเราทุกคนจะต้องปิดไฟทำงาน ไม่ดื่มน้ำ ประหยัดกันสุด ๆ แต่เศรษฐกิจพอเพียงในที่นี้หมายถึง การที่เราทุกคนจะต้องร่วมด้วยช่วยกัน คนละไม้คนละมือให้ทุกคนอยู่รอดในสังคมนี้ได้ นั่นหมายถึงพวกเราทุกคนในฐานะที่เราเป็นบัณฑิต จะต้อง ไม่เบียดเบียนลูกค้า จะต้องไม่เบียดเบียนพนักงาน เพื่อนร่วมงาน และที่สำคัญที่สุด จะต้องไม่เบียดเบียนสังคมและสิ่งแวดล้อมจะทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ และสดใสมากขึ้น

          นิทานเรื่องที่สองเรียกว่า “ปัญญาพอเพียง” เรื่องที่เกี่ยวกับสุภาษิตที่ว่า “ความรู้ท่วมหัว เอาตัว ไม่รอด” ไม่ใช่เรียนกันจนบ้า ไม่ใช่เรียนจนไม่เอาใคร ไม่เอาพี่น้อง เอาแต่ตัวเองให้รอดอยู่คนเดียว สุดท้ายไม่ได้อะไร ปัญญากับปริญญาเป็นสิ่งที่ควบคู่กันไป เราจำเป็นจะต้องหาสมดุลระหว่างสองสิ่งนี้ให้ได้ ระหว่างปัญญาและปริญญา สิ่งสำคัญอันหนึ่งในโลกแห่งความเป็นจริง ที่บัณฑิตจะต้องเจอ คือเราจะเป็น Generalist แปลเป็นภาษาไทยว่าเป็นผู้รู้แบบกว้าง ๆ หรือเราจะเป็น Specialist คือรู้แบบจริงจัง เป็นผู้รู้ลึก ในสายวิชาชีพที่ตัวเองเป็นอยู่

          นิทานเรื่องที่สามเรียกว่า “สร้างสรรค์พอเพียง” คำว่าสร้างสรรค์ในปัจจุบันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ในพันธุกรรมของทุกอาชีพในทุกธุรกิจและทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าบัณฑิตจะออกไปประกอบอาชีพนักบัญชี นักการตลาด การขาย วิศวกร อะไรก็แล้วแต่ คำว่าสร้างสรรค์ เป็นกลไกที่ขับเคลื่อนในตัวเราเกิดความโดดเด่นและแตกต่าง สร้างสรรค์ไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะคณะนิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์อีกต่อไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคณะใดก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเป็นสายอาชีพใดก็แล้วแต่ พันธุกรรมแห่งความคิดสร้างสรรค์จะอยู่คู่กับพวกเราตลอดไป

          นิทานเรื่องที่สี่ที่เรียกว่า “ทิฐิพอเพียง” ทิฐิพอเพียงเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องเปิดทวารทั้งสี่ หมายถึง เปิดหู เปิดตา เปิกปาก และเปิดใจ

          “เปิดหูคืออะไร” บัณฑิตใช้เวลาประมาณ 4 ปี ในสถานศึกษา พูดมากกว่าฟัง แต่หลังจากนี้เป็นต้นไป บัณฑิตจะต้องฟังมากกว่าพูด ฟังในสิ่งที่เราไม่รู้ ฟังในสิ่งแปลก ๆ ใหม่ ๆ ฟังและเคารพในสิ่งที่ผู้อื่นพูด ในเชิงความรู้และประสบการณ์

          “เปิดตาคืออะไร” บัณฑิตต้องหมั่นศึกษาในสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ ในแง่ของพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดความมั่งคั่งและยั่งยืนในการทำธุรกิจ

          “เปิดปากคืออะไร” บัณฑิตต้องรู้จักถาม ถามให้มากเข้าไว้ และที่สำคัญบัณฑิตจำเป็นจะต้องใช้คำว่า “ขอบคุณ” และคำว่า “ขอโทษ” ให้มากขึ้น เราแค่ทำผิดไม่ได้ทำชั่ว แค่ขอโทษทุกอย่างก็จบได้

          และสุดท้ายของทิฐิพอเพียง คือ “เปิดใจ” บัณฑิตต้องเปิดใจรับสิ่งดี ๆ ของชีวิต อย่าลืมว่ามีคนที่อยู่รอบตัวเราที่คอยเป็นห่วงเป็นใยเรา คอยให้สิ่งดีแก่เรา โดยเฉพาะคนสำคัญที่อยู่ข้างนอกหอประชุมในเวลานี้ ที่คอยร่วมแสดงความยินดีกับพวกเราทุกคน เป็นคนที่มีความสำคัญที่สุดในชีวิตของเรา อย่าทำเพื่อตัวเราเอง จงทำเพื่อท่านเหล่านั้น ทำเพื่อคนอื่น ๆ รอบข้างเราด้วย

          ขออำนวยพรให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายคุ้มครองให้บัณฑิตใหม่ทุกคน เจริญรุ่งเรือง สมปรารถนา โชคดีมีชัย มั่งมีศรีสุขตลอดไป ขอบคุณครับ

  

นายสรณ์ จงศรีจันทร์   
วันเสาร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2555

  

Back