คำกล่าวสุนทรพจน์ของผู้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

พิธีประทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๑ รุ่นที่ ๑๐
ณ อาคารศูนย์กีฬาและกิจการนักศึกษา

ภราดา ดร.ประทีป มาร์ติน โกมลมาศ

ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประเภททั่วไป

          กราบนมัสการพระคุณเจ้า กราบสวัสดีท่านอาจารย์ประณีต ดิษยะศริน ผู้รับใบอนุญาต ท่านนายกสภามหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ท่านผู้บริหาร กรรมการสภามหาวิทยาลัยหาดใหญ่ และท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย

          โอวาทที่จะให้ในวันนี้ หัวข้อว่า “ความจริง ความดี และความงาม” ซึ่งในสมัยก่อนเรียกว่า “The true The good and The beautiful” สังคมใดที่ต้องการดำเนินกิจการทางการศึกษา คือ อบรมลูกหลานของตน ตามเจตนารมณ์ของความเชื่อ ศรัทธาในศาสนาและต้องการจะถ่ายทอดคุณค่า หรือค่านิยมของสังคมตน ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมแก่อนุชนรุ่นหลังสืบไป จำเป็นต้องมีจุดหมายทางการศึกษาเป็น หลักปรัชญา เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้เรียนรู้ และผู้ถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมนั้น ๆ เพื่อจุดมุ่งหมายของการศึกษาพื้นฐานของความเชื่อศรัทธาในศาสนา และค่านิยมทางวัฒนธรรมของสังคมนั้น ๆ การเขียนหลักสูตรตามปรัชญาของจุดมุ่งหมาย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ฝ่ายวิชาการของสถาบันการศึกษานั้น ๆ ต้องให้ ความเอาใจใส่เป็นพิเศษ ปรมาจารย์ทางการศึกษาท่านหนึ่ง เช่น ยอน บลัก แบลกเกอร์ ให้ความเห็นว่า หลักสูตรที่ดีและสมบูรณ์ที่สุด ควรประกอบด้วยคุณค่าหรือค่านิยม 3 ประการ คือ ความจริง ความดี ความงาม ซึ่งเป็นค่านิยมอันสูงส่งของอารยธรรมของมนุษยชาติมาแต่โบราณกาล

          ความเป็นมาของค่านิยมนั้น ประมาณสี่ร้อยปีก่อนคริสตกาล ในยุคสมัยของกรีกโบราณ ได้มี การโต้วาทีกันอย่างเผ็ดร้อน ด้วยเรื่องศีลธรรม ความจริง ความดี และความงาม ระหว่างนักปรัชญานามอุโฆษ สองคน คือ พลาโต และอริสโตเติล ได้ใช้วาทศิลป์ของตน ทำให้ประชาชนกรีกโบราณ สนใจที่จะถกเถียงกันด้วยเรื่องศีลธรรม และวิธีแก้ปัญหาสังคมที่มีอยู่

          ครั้งหนึ่งของการโต้วาทีได้ยกประเด็นที่ว่าทำอย่างไรบุคคลที่เจริญแล้ว จะรู้จักชมชอบแต่ความจริง ความดี และความงาม และประพฤติตนในกรอบศีลธรรมตลอดไป การถกเถียงด้วยเรื่องดังกล่าว ได้มาถึงจุดคำถามที่ว่า ศิลปินที่แท้จริงคือใคร เขาสามารถใช้ศิลปะของเขานำมนุษย์ไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าหรือไม่ หรือนำมนุษย์สู่ความเสื่อม เราคงเคยเห็นการวาดภาพแบบอัพแทรก (Abstract) ที่มีการตีราคามากมายเป็นล้าน ๆ กันมาแล้วซึ่งเป็นภาพที่คนทั่วไปไม่สามารถมองออกว่าเป็นภาพอะไรเป็นรูปคน หรือรูปสัตว์หรือรูปธรรมชาติอื่น ๆ

          สมัยพลาโตนั้น ศิลปินที่วาดภาพดังกล่าวจะถูกตัดสินให้ติดคุกโทษฐานวาดภาพขึ้นมาหลอกประชาชน แต่ในสมัยของอริสโตเติลนั้นศิลปินคนเดียวกันจะได้รับการสรรเสริญว่า เป็นบุคคล ที่มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถบรรยาย ความหมายของชีวิตได้อย่างน่าอัศจรรย์ ห้าร้อยปีต่อมาจากนั้นคือยุคของพระเยซูคริสต์ ยุคดังกล่าว ดินแดนปาเลสไตน์ เป็นเมืองขึ้นในการปกครองของพวกโรมันก็จริง แต่ชีวิตศักดิ์ของสังคมประชาชนถูกกำกับอย่างเคร่งครัดโดยผู้ปกครองฝ่ายศาสนาพวกธรรมมาจารย์ เช่น พวกฟาริสีและพวกผู้ใหญ่ฝ่ายศาสนาเป็นพวกให้ความเห็นและชี้ขาดในเรื่องของการตีความเกี่ยวกับชีวิตสังคม ซึ่งในบางครั้งพวกเขาก็ขัดแย้งกันเอง มีความเห็นไม่ตรงกันเสมือนดังสังคมของกรีกโบราณหรือสังคมปัจจุบันเช่นกัน เมื่อพระเยซู ทรงเริ่มสั่งสอน พระองค์ก็ได้ถูกจับเป็นเป้าของการถูกจับผิดและการโต้เถียงกันไม่ผิดอะไรกับชาวกรีกในยุคของพลาโตและอริสโตเติล ที่ถกเถียงกันด้วยเรื่องของศีลธรรมและบทบาทของศิลปิน

          เรื่องมีอยู่ว่า ในตอนเช้าวันหนึ่งพระเยซูเสด็จเข้าในพระวิหาร คนทั้งหลายพากันมาหาพระองค์ พระองค์ก็ประทับนั่งและเริ่มสั่งสอนเขาพวกธรรมจารและพวกฟาริสี ก็พาผู้หญิงคนหนึ่งมา หญิงผู้นี้ถูกจับฐานะ ร่วมประเวณีและเขาก็ให้หญิงผู้นี้ยืนอยู่หน้าฝูงชน เขาทูลพระองค์ว่า พระอาจารย์เจ้าขาหญิงคนนี้ถูกจับเมื่อกำลังร่วมประเวณีอยู่ในธรรมบัญญัติของโมเสสสั่งให้เราเอาหินขว้างคนนี้ให้ตาย ส่วนท่านจะว่าอย่างไรในเรื่องนี้ เขาพูดอย่างนี้เพื่อทดลองพระองค์ หวังจะหาเหตุฟ้องพระองค์ แต่พระเยซูน้อมกายลงเอานิ้วพระหัตถ์เขียนที่ดิน และเมื่อพวกเขายังทูลถามอยู่เรื่อย ๆ พระองค์ก็ทรงลุกขึ้นตรัสตอบเขาว่า ผู้ใดในพวกท่านที่ไม่มีผิด ก็ให้ผู้นั้นเอาหินขว้างเขาก่อน และพระองค์ก็ทรงน้อมพระกายลงเอานิ้วพระหัตถ์เขียนที่ดินอีก แต่เมื่อเขาทั้งหลายได้ยินดังนั้น เขาทั้งหลายจึงออกจากที่นั้นไปทีละคนเริ่มจากคนเฒ่าคนแก่ เหลือแต่พระเยซูตามลำพัง กับหญิงคนนั้นที่อยู่ต่อพระพักตร์พระองค์ พระเยซูทรงเงยพระพักตร์ขึ้นตรัสถามกับนางว่า หญิงเอ๋ยพวกเขา ไปไหนหมด ไม่มีใครเอาโทษเจ้าหรือ นางนั้นทูลว่า พระองค์เจ้าคะไม่มีผู้ใดเลย และพระองค์ก็ตอบว่า เราก็ไม่เอาโทษเจ้าเหมือนกัน จงไปเถิดและอย่าทำผิดอีก ในบริบทดังกล่าวนี้ เราอาจจะถามตนเองว่าใครจะขว้างก้อนหินเป็นคนแรก ใครบ้างหรือที่ไม่เคยทำบาป ใครบ้างที่ไม่เคยทำผิด พระองค์น้อมกายลงเอานิ้วพระหัตถ์เขียนที่ดินหลายครั้ง เขียนอะไรไม่ทราบ แต่ความหมายคงเป็นที่ยอมรับกันคือ คนเฒ่าคนแก่ยอมจำนน เดินออกไป เพราะในมโนธรรมของเขาเหล่านั้นยังก้องด้วยเสียงดุจดังสายฟ้าผ่าว่าใครบ้างที่ไม่เคยทำบาป ใครบ้างที่ไม่เคยทำผิด

          ดังนั้น ในบริบทข้างต้นนี้ ความจริง ความดี และ ความงาม คืออะไร ความจริงก็คือว่า มนุษย์เราทุกคนเป็นคนบาปทั้งนั้น เราทุกคนจึงควรยอมรับสถานภาพของตนว่าเป็นคนบาปจึงควรถ่อมตนลง ต่อหน้าฟ้าและแผ่นดิน ด้วยเหตุนี้พระองค์สอนว่าจงอย่าพิพากษาใครด้วยเบาความและท่านจะไม่ถูกพิพากษา จงอย่า เสแสร้ง จะเอาเศษไม้ออกจากตาของเพื่อนบ้าน ในเมื่อท่านมีท่อนซุงอยู่ในตาของท่าน ความดีคืออะไร ความดีคือความเมตตากรุณา เหมือนอย่างพระเจ้าในสรวงสวรรค์มีเมตตาต่อเราทุกคน ความงามคืออะไร ผู้ที่ได้รับการอภัยย่อมเป็นสุข นี่คือความงาม ดังหญิงคนนั้น

          ดังนั้น ปรัชญาของจุดมุ่งหมาย หลักสูตร การศึกษาที่เหมาะสมจะนำมาใช้อบรม ลูกหลาน และเยาวชน เพื่อให้การสืบทอดมรดก วัฒนธรรม และแสดงออกถึงอารยธรรมของมนุษยชาติ จะต้องประกอบด้วยความจริง ความดี และความงาม ซึ่งถือว่าเป็นคุณค่าที่สำคัญและจำเป็นทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของมนุษยชาติ

  

ภราดา ดร.ประทีป มาร์ติน โกมลมาศ
วันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2552  

  

Back