คำกล่าวสุนทรพจน์ของผู้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

พิธีประทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๓ รุ่นที่ ๑๒
ณ อาคารศูนย์กีฬาและกิจการนักศึกษา

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประเภททั่วไป

          พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อ พ.ศ.2494 จากนั้นสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ขณะยังเป็นสามเณร และได้รับพระราชทาน พระบรมราชานุเคราะห์ให้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในฐานะนาคหลวง ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ พ.ศ. 2504 จากนั้นสำเร็จการศึกษาปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ และสอบได้ประกาศนียบัตรพิเศษครูมัธยม (พ.ม.)

          พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เป็นพระเถระที่บำเพ็ญคุณประโยชน์ทางพระพุทธศาสนามากมาย ทั้งการเขียนหนังสือธรรมะ การบรรยายเผยแผ่ธรรมะ และการสอนธรรมะในสถานศึกษา โดยเฉพาะระดับมหาวิทยาลัย ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่สำคัญ ๆ ได้แก่ เป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยมหิดล เคยได้รับอาราธนาไปบรรยายวิชาพุทธศาสนากับวัฒนธรรมไทยที่ University Museum แห่ง University of Pennsylvania เคยได้รับอาราธนาไปบรรยายวิชาการทางพระพุทธศาสนาที่ Harvard University, Swarthmore College, Pennsylvania ได้รับอาราธนาเป็น Visiting Scholar ที่ The Harvard Divinity School, Harvard University

          จากการที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เป็นพระเถระที่บำเพ็ญคุณประโยชน์ทางพุทธศาสนามากมาย ทั้งการเขียนหนังสือธรรมะชื่อ “พุทธธรรม” ที่สะท้อนถึงธรรมะของพระพุทธเจ้าอย่างลึกซึ้งถึงแก่น และหนังสือธรรมะเล่มอื่นอีกมากมาย การบรรยายเผยแผ่ธรรมะ และการสอนธรรมะในสถานศึกษา ทำให้ได้รับการยกย่องจากสังคมอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ จนได้รับรางวัลและการประกาศเกียรติคุณต่าง ๆ มากมายที่สำคัญ ๆ ได้แก่

          พ.ศ. 2537 ได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ จากองค์การยูเนสโก (UNESCO Prize for Peace Education)

          พ.ศ. 2538 ได้รับการประกาศเชิดชูเกียรติเป็น “ผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรม” จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ

          พ.ศ. 2538 ได้รับการถวายตำแหน่ง “ตรีปิฎอาจารย์” ซึ่งหมายถึง อาจารย์ผู้รู้แตกฉานในพระไตรปิฎก จากสถาบันนวนาลันทา ประเทศอินเดีย

          พ.ศ. 2541 ได้รับการถวายรางวัล TFF Award ด้านผลงานทางวิชาการดีเด่น จากหนังสือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิโตโยต้า ประเทศไทย

          พ.ศ. 2544 ได้รับพระราชทานพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

          พ.ศ. 2547 ได้รับการถวายตำแหน่ง “เมธาจารย์” (Most Eminent Scholar) ในฐานะนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา จากมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก

          พ.ศ. 2549 ได้รับพระราชทานพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต

          พ.ศ. 2552 ได้รับการยกย่องเป็นปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

          นอกจากนี้ ได้รับถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาทางด้านปรัชญา ด้านศาสนา ด้านอักษรศาสตร์ และด้านการศึกษา จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยนเรศวร และสถาบันนวนาลันทามหาวิหาร ประเทศอินเดีย เป็นต้น

          จึงถือได้ว่า พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เป็นพระเถระที่มีความรู้ความสามารถทางด้านพระพุทธศาสนาและด้านการศึกษาอย่างสูงยิ่ง ได้สร้างผลงานทางด้านพุทธศาสนาและด้านการศึกษามากมายที่มีคุณค่าต่อชีวิตของผู้คนในสังคมจนเป็นที่ประจักษ์ เป็นพระเถระที่เผยแผ่สั่งสอนพุทธธรรมให้แก่พุทธศาสนิกชน ให้มีธรรมะเป็นเครื่องกำกับในการดำเนินชีวิตและแก้ไขปัญหาของมนุษยชาติมายาวนาน

  

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

  

Back